Thursday, February 02, 2012

เมื่อจิตไร้สำนึกแปลงร่างเป็นสัตว์ต่างๆมาเข้าฝัน

เมื่อจิตไร้สำนึกแปลงร่างเป็นสัตว์ต่างๆมาเข้าฝัน 
การถอดรหัสเพื่อให้ได้ยินเสียงกระซิบของสัตว์ตัวนั้นว่าต้องการจะสื่อหรือเตือนอะไรเรา 
เริ่มจากการบันทึกข้อสังเกต dream observation 
โดยให้บันทึกเท่าที่จำได้โดยไม่พยายามเค้นความจำ 
 ระวังอย่าต่อเติมเสริมแต่งเรื่องราวในฉากฝัน 


(ภาพประกอบวาดโดย ครูแม่ส้ม Som Amorn)


























1.ฝันเห็นสัตว์อะไร 
2.สัตว์ตัวนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่า 
3.เชื่องหรือดุร้าย 
4.เป็นสัตว์ที่ดูสุขภาพสมบูรณ์ หรือดูอ่อนแอขี้โรค หิวโซ 
5.สัตว์ตัวนั้นอาศัยอยู่ที่ไหน เช่น ในบ้าน ในป่า ในสวน ในความมืด ในที่โล่ง ในรู ในอากาศ หรือในน้ำ 
6.เรามีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ตัวนั้นอย่างไร เช่น เรามองดูเฉยๆ เราขี่หลังมัน เราสัมผัสจับต้อง เราพูดคุยด้วย หรือ ถูกกัด ถูกคำรามใส่ หรือวิ่งหนี 
7.ตำแหน่งของสัตว์ตัวนั้นอยู่ทิศทางไหนของเรา เช่น อยู่ข้างบน อยู่ข้างล่าง ข้างหน้า ข้างหลัง 
8.การเคลื่อนไหวของสัตว์ตัวนั้น เคลื่อนไหวเร็ว หรือช้าๆ หรืออยู่นิ่งๆ 
9.สัตว์ตัวนั้นมีสีอะไร 
10.มีจำนวนกี่ตัว 
11.มีสัตว์ชนิดอื่นปรากฏร่วมด้วยหรือเปล่า 

ก่อนที่จะพยายามถอดรหัสความหมายของความฝัน ให้บันทึกข้อสังเกตทำนองนี้ไว้ในสมุดจดฝันก่อน ยังไม่ต้องรีบร้อนตีความ ขณะที่เขียน dream observation จิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกจะค่อยๆทำความรู้จักกัน  พูดง่ายๆว่า  จิตขณะตื่นกับจิตขณะหลับจะค่อยๆหลอมรวมเข้าด้วยกัน   ซึ่งส่งผลให้เมื่อเราสืบค้นความหมายของสัตว์ในฝันจากตำราต่างๆ  จิตหยั่งรู้ที่เป็น intuitive mind จะทำงานเอง   

การทำงานกับความฝันต้องอาศัยเวลาค่อยๆซึมซับสัญญาณและถอดรหัสสัญญาณเหล่านั้น  เหตุเพราะสัญญาณและสัญลักษณ์ที่เข้ารหัสมาเป็นความฝันของเรานั้น  มันใช้เวลาบ่มเพาะฟักตัวมานาน  บางสัญลักษณ์ก็อาจจะบ่มเพาะค่อยๆก่อนรูปสร้างร่างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเรายังเป็นเด็กเล็กๆ   เหตุการณ์ที่เราพบเจอได้ประทับลงไปในจิตสำนึก จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึกตลอดเวลา  ในศาสตร์สุบินโยคะของธิเบตเรียกที่สะสมรอยประทับนี้ว่า "อาลัยวิญญาณ" (คลิกอ่านเรื่อง"จิตที่คลุมเครือ")


ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)
เขียน 3 กุมภา 2555



Thursday, December 08, 2011

วิกฤต .. ไอ้เบื๊อก .. และผู้กล้า




ประโยคเตือนใจของคนจีนที่ว่า"วิกฤตคือโอกาส"นั้น ถ้าอธิบายเชื่อมโยงกับเรื่อง"ตัวตนใหม่" ใน Individuation ของคาร์ล ยุง  ก็จะอธิบายได้ว่า   วิกฤตการณ์ที่สำคัญๆแต่ละครั้งของชีวิต ล้วนมีนัยยะและเหตุผลของการเกิดขึ้น 


และแต่ละครั้งที่คนเราเผชิญวิกฤต(crisis) ไม่ว่าจะดีกรีขนาดไหนก็แล้วแต่ ล้วนเป็นสัญญาณของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ส่งออกมาจากจิตไร้สำนึกบุคคล(personal unconscious) 

นักจิตบำบัดสายยุงเกี้ยนเห็นพ้องกันว่า แบบแผนการทำงานของจิตไร้สำนึกระดับปัจเจกบุคคลนั้นเชื่อมสัมพันธ์กับแบบแผนหลักของจิตไร้สำนึกใหญ่ที่เป็นจิตไร้สำนึกร่วมกันของมนุษยชาติ หรือ collective unconscious 

หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นแบบแผนการใช้ชีวิต  กระบวนการของจิตและพฤติกรรม  หรือรูปแบบและกลยุทธ์ที่เราใช้อยู่ทุกๆวันจนกลายเป็นสัญชาตญาณประจำตัว  ไม่ว่าผู้คนในอดีตนับพันปีมาแล้ว  หรือคนในยุคสมัยปัจจุบัน  ไม่ว่าคนเผ่าพันธุ์ไหน  อยู่ซีกโลกไหน สีผิวสีตาสีผมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จิตไร้สำนึกจะทำงานตามแบบแผนหรือ pattern ที่เป็นวงจรดำเนินซ้ำ 

แนวคิดนี้สามารถค้นและศึกษาเพิ่มเติมได้จากหัวเรื่องเหล่านี้  
  • Collective Archetype, Collective Psyche , 
  • รหัสศาสตร์ใน Symbolism และ Mythology , 
  • Psychology of Selves ใน Voice Dialogue method, 
  • จิตวิทยางานกระบวนการ หรือ Process Work , 
  • การศึกษาเรื่องความฝันซึ่งส่งผลกระทบกายและจิตอย่างเป็นองค์รวม หรือ Psychosomatic theory of dreams (โยงกับอี้จิงและชี่บำบัดของจีน) 
  •  Family Constellation  (ทำงานกับจิตระดับญาณทัศนะ(Intuition) ซึ่งคาร์ล ยุง เรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconsciou)
  • รวมถึงระบบจิตวิทยาโบราณที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมานับพันปีในศาสตร์ไพ่พยากรณ์  Tarot(ทาโรต์) , เลขศาสตร์ (Numerology)  และ โหราศาสตร์ (Astrology)  เป็นต้น
ดังนั้นถ้าหากว่าเมื่อไรเปิดไพ่ทาโรต์ได้ไพ่วิกฤต  แล้วคนอ่านไพ่ทำนายไปในทางที่ทำให้เราตกใจ  อกสั่นขวัญหนีดีฝ่อ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหนทาง  และเกิดความกลัวขึ้นมา    ขอให้ตระหนักไว้ว่าไพ่ไม่ได้มีอำนาจเหนือเรา   จิตไร้สำนึกของเราเองต่างหากที่เป็นผู้ดึงไพ่ใบนี้ออกมา    และจิตไร้สำนึกของเรากำลังเตือนเราว่า"โอกาสของการปรับเปลี่ยนชีวิต"อยู่ตรงหน้าแล้ว   อยู่ที่ว่าเราจะ"เลือก"เดินต่อหรือยอมแพ้

การปรากฏขึ้นของไพ่แต่ละใบ  คือคำเตือนที่ปัญญาญาณด้านใน(Intuition)ที่อยู่ในจิตไร้สำนึกกำลังพยายามสื่อสารกับจิตสำนึก(conscious)     ประเด็นสำคัญคือเราทุกคนกำลังเดินทาง  และเมื่อมาถึงจุดหักเหของเส้นทาง   ตัวเรานั้นเองคือ"ผู้เลือก"   เลือกว่าจะเดินไปทิศทางไหน   เลือกวิถีทิศ  เลือกอาวุธคู่กาย  เลือกที่จะสู้และฝ่าฟันความยากลำบาก  และเลือกที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อนำกลับไปมอบให้อนุชนรุ่นหลัง  

วิถีแห่ง"ผู้(กล้า)เลือก"  ปรากฏอยู่ทั้งใน The Fool's Journey (ไพ่ทาโรต์ชุดหลัก-Major Arcana)  และใน The Hero's Journey  ซึ่งโจเซฟ แคมเบลล์ (Joseph Campbell)ศิษย์คนหนึ่งของคาร์ล ยุง เรียกแบบแผนวงจรของผู้กล้า(เลือก)ซึ่งดำเนินซ้ำๆมาทุกยุคทุกสมัยนี้ว่า Monomyth


เมื่อ"วิกฤต"ทำให้เราสำนึกได้ว่า"ถ้าอยากจะรอดก็ต้องกล้าเลือก"   ในจังหวะที่สำนึกนั้นเกิดขึ้น  ทัศนคติการมองโลกเดิมก็เปลี่ยนไป  เรากำลังกลายร่างเป็นคนใหม่(transforming)   และนี่เป็นกระบวนการเติบโตจากด้านในระดับปัจเจกบุคคล(personal transformation) ที่คาร์ล ยุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นรอบๆ(loops)ตลอดช่วงชีวิตของคนเรา 

ครูแม่ส้ม 
คุยกันต่อได้ที่เฟสบุ๊คเพจ (คลิก)  ถอดรหัสภาพ ไพ่ และความฝัน 

Wednesday, June 08, 2011

เหตุแห่งฝัน 1>2>3>4>6 ของคาร์ลยุง


มาจากเพจครูแม่ส้ม


มีเรื่องน่ารักเกิดขึ้นในหนังสือ Children's Dream ซึ่งรวบรวมคำบรรยายของดร.คาร์ลยุงเกี่ยวกับความฝันของวัยเยาว์ ในบทที่พูดถึงต้นเหตุและปัจจัยที่มำให้เกิดกระบวนการความฝัน หรือ dream process นั้นมีเยอะแยะมากมาย แต่สรุปสั้นๆได้ 5 สาเหตุ คือ

‎1. Somatic sources : คือปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความเจ็บป่วย การนอนในท่านอนที่ผิดปกติ เช่นนอนทับแขน หรือตกหมอน หรืออาหารไม่ย่อย ฯลฯ อันนี้ก็ตรงกับที่เราเรียกว่าฝันเพราะ"ธาตุกำเริบ" (ธาตุโขภะ)




2. Physical stimuli หรือ physical environment ที่เป็นตัวกระตุ้นในช่วงที่เรานอนหลับ เช่น แสงฟ้าแลบ เสียงฟ้าร้อง หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ฯลฯ





‎3. Psychical stimuli (psychical occurrences in the environment are perceived be the unconscious) หัวข้อนี้ค่อนข้างซับซ้อน เป็นปรากฏการณ์ที่จิตไร้สำนึกถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณบางอย่าง ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่ และสิ่งแวดล้อมของจิต เขายกตัวอย่างเช่น มีแขกมานอนค้างคืนที่บ้าน แล้วแขกคนนี้ก็ฝันถึงเรื่องราวปมปัญหาของคนในบ้านหลังนั้น ทั้งๆที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ยุงอธิบายถึงพลังงานบางอย่าง(ปมปัญหา)ที่ฟุ้งกระจายออกไปในสิ่งแวดล้อมโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว .. เขาเรียกข้อมูลประเภทนี้ว่าเป็นข้อมูลที่ลักลอบเข้ามาในความฝัน

[แปล: มันเป็นเรื่องที่เราไม่น่าจะไปรับรู้ แต่เราก็รับรู้มันจนได้ ราวกับว่าจมูกของเรายื่นทะลุกำแพงเข้าไป และสูดดมข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศโดยที่เราไม่ได้เจตนาเลย]





‎4. Past events : อดีตในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องที่ผ่านไปเมื่อเช้า เมื่อวาน หรือปีที่แล้ว แต่หมายถึงร่องรอยความทรงจำทั้งที่จำได้ ลืมไปแล้วแต่รู้ว่าลืม และลืมไปและไม่รู้ว่าลืม (ยุงเรียกว่าเป็นข้อมูลที่ขาดการติดต่อกับจิตสำนึก) รวมไปถึงอดีตที่เป็นผลพวงจากการพิมพ์ซ้ำของแบบแผนทางจิตที่เป็นสากล (collective psyche) .. มีตัวอย่างการฝันว่าละเมอพูดภาษาแปลกๆที่เจ้าตัวไม่รู้จัก แต่บังเอิญว่าคนที่ได้ยินรู้ว่าคนที่กำลังนอนละเมอนั้นพูดภาษาอะไร




5 . Future events : อันนี้เป็นฝันเปลี่ยนวิถี

......

Note แปะไว้


เคยอ่านเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งของปู่ยุง(นานแล้วหาต้นตอไม่เจอ) บอกว่าการศึกษาวิทยาการ(ในยุคของแก) นักวิชาการให้คุณค่ากับจิตสำนึกมากไปโดยถือว่า จิตสำนึก(conscious) เป็นเรื่องที่มีสาระ (make sense) และไม่ค่อยให้คุณค่ากับจิตไร้สำนึก (unconscious) เพราะจิตไร้สำนึกทำงานอย่างคลุมเครือ ทำให้นักวิชาการมองข้ามเรื่องจิตไร้สำนึกไปและมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ (nonsense) .. แต่กระนั้นคาร์ลยุงก็มุ่งมั่นค้นคว้าและศึกษาเรื่อง"เหนือสาระ"ของแกต่อไป




ภายหลังประโยคนี้ของปู่แกได้กลายเป็นประโยคยอดนิยมของสานุศิษย์จิตวิทยายุงเกี้ยน ..."The pendulum of the mind oscillates between sense and nonsense, not between right and wrong." (จากหนังสือ Memories, Dreams, Reflections)




เหตุผลที่นักมนุษยนิยมทางเลือกเป็นศิษย์สายยุงเกี้ยนกันเยอะ เพราะแนวคิดของคาร์ลยุง เป็นแนวคิดที่ไม่นิยมตัดสินแบบถูก-ผิด หรือแบบขาวจัด-ดำจัด ยุงอธิบายไว้หลายแห่งเกี่ยวกับเรื่องสัญลักษณ์วงกลมหยินหยางซึ่งอ้างอิงจากตำราอี้จิงของจีน (กระทั่งปู่แกมีตราสัญลักษณ์ส่วนตัวเป็นรูปหยินหยางกะเขาด้วย)







ในวงกลมหยินหยาง (อันที่จริงต้องเรียกว่าวงกลมไท่จี๋..ปล.ไท่จี๋ไม่ได้แปลว่ามวยจีนแต่เป็นปรัชญาการใช้ชีวิต) ในสีขาวและสีดำของวงจรหยินหยางนั้น เป็นธรรมชาติแห่งทวิภาวะ หรือกฏของสิ่งคู่ตรงข้าม ซึ่งเป็นข้อหนึ่งของกฏธรรมชาติ แต่กฏของสิ่งคู่ตรงข้ามดำเนินคู่ไปกับกฏอีกกฏหนึ่งคือกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงหรือการหมุนเวียนแทนที่ ดังนั้น หยิน(ส่วนสีดำ)ก็จะแปรเปลี่ยนมาเป็นหยาง(ส่วนสีขาว)เมื่อ ถึงเวลาที่เหมาะสม ดังเช่น กลางคืนและกลางวัน ..

ด้วยกฏธรรมชาตินี้ คาร์ลยุงกล่าวว่า ที่เขาพูดว่า ลูกตุ้ม(เพนดูลัม)ของจิต แกว่งไปมาระหว่างขั้วสองข้างตลอดเวลา (เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่มีชีวิต) ด้านหนึ่งคือ จิตสำนึก อีกด้านคือ จิตไร้สำนึก ไม่ว่าเราจะสำเหนียกรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลูกตุ้มชีวิตนี้ก็แกว่งของมันไปอย่างนี้แหละ และสองขั้วนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรื่องผิดถูก ชั่วดี ควรไม่ควร ...

คาร์ลยุงให้แง่คิดในการมองเรื่อง"บาปและความชั่วร้าย"แตกต่างไปจากความเชื่อทางศาสนา เขามองว่าจิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์ คือการเผยออกอย่างสมดุลของทั้งจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก .....

(เรื่องนี้อธิบายต่อได้ว่า ทำไมดร.สโตนจึงสานต่อเป็นวิชาว๊อยซ์ไดอะล็อก ที่ให้กลับมาตระหนักถึงความสมดุลของตัวตนสองด้าน..  Voice Dailogue : The Psychology of Selves )





.................................................

ตามไปคุยกันต่อได้ที่เพจนี้นะ
ถอดรหัสภาพ ไพ่ บทกวี และความฝัน : Decoding Symbols in Arts, Dream and Tarot


Sunday, May 29, 2011

"Siddhartha" film[1972]

a novel by Hermann Hesse



















When someone is seeking,” said Siddartha,
“It happens quite easily that he only sees the thing that he is seeking;
that he is unable to find anything,
unable to absorb anything,
because he is only thinking of the thing he is seeking,
because he has a goal,
because he is obsessed with his goal.
Seeking means: to have a goal;
but finding means: to be free, to be receptive, to have no goal.
You, O worthy one, are perhaps indeed a seeker,
for in striving towards your goal,
you do not see many things that are under your nose."


— Hermann Hesse


[thanks for uploading the film onto YouTube]

Thursday, May 26, 2011

บทฝันจากยุคกลาง : Medieval Dream

27.5.2011

เกิดเหตุพ้องพานขึ้นอย่างไม่บังเอิญทุกวันในชีิวิต

เมื่อเช้าอ่านตัวอย่างความฝันในบทเรียนบทหนึ่งของอาจารย์ปู่คาร์ลยุง

ใจไปสะดุดกับชื่อ Leipzig ซึ่งเป็นชื่อเมืองๆหนึ่งในเยอรมัน

พอตอนเย็นเพื่อนในกลุ่มดนตรียุโรปแบ่งปันวีดีโอนี้เข้ามา

ทำให้ได้รู้จักกับกวียุคกลาง
ซึ่งชื่อของเขาเกี่ยวข้องกับชื่อเมืองที่เราอ่านเมื่อเช้า
แม้จะไม่ใช่ความเกี่ยวข้องที่สำหลักสำคัญอะไร
แต่นั่นก็เป็นด้ายเส้นเล็กๆซึ่งโยงให้เรามาสนใจชื่ออีกสองชื่อของสองยุคสมัย
ชื่อหนึ่งเป็นกวียุคกลาง
Heinrich von Morungen
อีกชื่อเป็นกลุ่มนักดนตรีชื่อวง Qntal
พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นนักดนตรีแนว Electro-Medieval

แถมฉากเริ่มในภาพเพลงชุดนี้ก็ช่างประจวบเหมาะกับที่เราเพิ่งพูดถึงชื่อแม่นางในภาพกับน้องซึ่งเป็นนักอ่านไพ่ทาโรต์เมื่อเช้านี้พอดี

ตอนนี้เลยมีประเด็นที่ร้อยพันกันอยู่สามสี่เรื่อง
บทกวี ดนตรี Mythopoetry และ Symbolism เอาเรื่องไหนก่อนดี

อืม.. ฟังเพลงและดูภาพก่อนแล้วกัน


เพลงนี้ร้องจากบทกวีร้องบทหนึ่งของ Heinrich of Morungen
ซึ่งเป็นกวียุคกลาง ช่วงชีวิตของเขาอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1155-1222 นักร้องวงควันไทล์ Qntal เป็นหนึ่งในวงโปรดของเรา
เมื่อฟังเพลงทุกครั้งก็อยากรู้ว่าบทเพลงเขาต้องการจะสื่ออะไร
พยายามค้นดูว่าจะมีใครสักคนแปลบทกวีบทนี้เป็นภาษาอังกฤษไหม

ในที่สุดก็พบว่ามีนักแต่งเพลงชื่อ
Henrik W. Gade ได้แปลไว้
(ต้นฉบับตาม Link นี้ เขาเปิดให้เราเข้าไปแก้ไขการแปลได้ด้วย
อืม..ก็ไม่แน่ใจว่าอ่านบทแปลจะได้อารมณ์เหมือนต้นฉบับของกวีหรือเปล่า

แต่อย่างน้อยก็เป็นสะพานไม้เล็กๆทอดให้เราเดินเข้าไปในตำนานละนะ)


Von den elben (By the Elves)

I.
By the elves many a man was enchanted,

So was I enchanted by strong love

By the best woman a man has ever befriended.

But will she for that reason hate me,

And stand up against me,

Willing to take her revenge on me
In doing what I ask of her;
then she will make me so happy,

That my life will perish with joy.


II.
She rules and is in the heart of mine,

Lady and mightier than I am myself,
Hey, if I ever could have that much power over her

That she stayed faithfully by my side

For three whole days

And some nights

Then I would not loose the life and all the power,
Yes, she is unfortunately much too independent of me.


III.
I am inflamed by the light of her eyes so bright,

As the fire does to the dry tinder,

And her treating me like a stranger offends the heart of mine,

Like the water the glowing embers,

And her high spirit
And her beauty and her dignity
And the wonders, they tell of her good deeds
That is bad luck to me - or maybe good.

IV.
When her bright eyes turn to me in a way

That all through my heart she sees,
Who would dare go in between and trouble me,

He must have all the joy of his totally destroyed,
I must stand in front of her,
And await my delight,
Just as the little bird (awaits) the light of dawn.
When will I ever achieve such happiness?
อ่านสำนวนแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้แล้ว
ยังรู้สึกกระท่อนกระแท่นในอารมณ์
ราวกับว่ายังเข้าไปไม่ถึงห้องส่วนตัวของผู้ประพันธ์
ถ้าอย่างนั้น ลองร้องตามนักร้องดีกว่า
ด้วยภาษาที่เราไม่คุ้นเคย
เผื่อว่าเสียงในอากาศจะนำพาเราให้ข้ามห้วงเวลาและความคิด

Von den elben

1

Von den elben wirt entsehen vil manic man,
sô bin ich von grôzer liebe entsên
von der besten, die ie dehein man ze vriunt gewan.
wil aber sî der umbe mich vên
Und ze unstaten stên,
mac si danne rechen sich
und tuo, des ich si bite. sô vreut si sô sêre mich,
daz mîn lîp vor wunnen muoz zergên.
2
Sî gebiutet und ist in dem herzen mîn
vrowe und hêrer, danne ich selbe sî.
hei wan muoste ich ir alsô gewaltic sîn,
daz si mir mit triuwen waere bî
Ganzer tage drî
unde eteslîche naht!
sô verlür ich niht den lîp und al die maht.
jâ ist si leider vor mir alze vrî.
3
Mich enzündet ir vil liehter ougen schîn,
same daz viur den durren zunder tuot,
und ir vremeden krenket mir daz herze mîn
same daz wazzer die vil heize gluot.
Und ir hôher muot
und ir schoene und ir werdecheit
und daz wunder, daz man von ir tugenden seit,
daz wirt mir vil übel -- oder lîhte guot?
4
Swenne ir liehten ougen sô verkêrent sich,
daz si mir aldur mîn herze sên,
swer dâ enzwischen danne gêt und irret mich,
dem muoze al sîn wunne gar zergên!
Ich muoz vor ir stên
unde warten der vröiden mîn
rehte alsô des tages diu kleinen vogellîn.
wenne sol mir iemer liep geschên?

ขอขอบคุณศิลปินและครูอาจารย์ทั้งหลาย
ผู้ซึ่งกาลเวลาไม่สามารถพรากพวกท่านไปจากความงาม

ขอคารวะด้วยลมหายใจ
ครูแม่ส้ม  



Tuesday, May 24, 2011

ดูภาพเคลื่อนไหวของจิตที่เผยออก แต่ถูกเรียกกลับ

วันนี้ครูแม่ส้มมาชวนดู Animation นิทานพื้นบ้านของรัสเซียเรื่องหนึ่ง เค้าโครงเรื่องเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolism) ซึ่งสามารถดูได้ทั้งแบบไม่ถอดรหัส คือดูไปตามท้องเรื่องตรงๆ หรือจะดูแบบถอดรหัสสัญลักษณ์ในเชิงจิตวิทยา(Jungian psychology)ก็ได้ เช่น ฉากเด็กสาวเอาเท้าแช่ลงไปในน้ำก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เสื้อผ้าของเด็กสาวหายไปก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เป็นต้น อะนิเมชั่นเรื่องนี้มีระบบสัญลักษณ์แทรกอยู่ตลอดเรื่อง

ในตอนท้ายที่ดูเหมือนว่าตัวละครตัวแม่และตัวยายจะดูโหดร้ายและรุนแรง แต่ความรุนแรงทั้งหมดนั้นก็เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่การฆ่าตัดหัวมังกร หัวและเลือดมังกรจมลงไปในน้ำ การที่หญิงสาวยกลูกชายคนเล็กขึ้นทุ่ม หัวลูกโหม่งกับพื้นแล้วลูกกลายเป็นกุ้งมังกรคืบคลานกลับลงไปใต้ทะเลลึก หรือการโยนลูกสาวขึ้นท้องฟ้าแล้วลูกกลายเป็นนกบินหนีไป จนถึงฉากที่ตัวหญิงสาวเองกลับไปสระผมที่หนองน้ำ แล้วกลายร่างเป็นนกสีดำบินไปรวมฝูงกับนกอื่นๆ(ที่มีชะตากรรมเดียวกัน) ทุกฉากทุกตอนสามารถอ่านเป็นสัญลักษณ์ได้หมด แม้แต่ฉากจบของเรื่องก็คือฉากตอนเริ่มเรื่อง เป็นสัญลักษณ์วงจรฉายซ้ำของแบบแผนพฤติกรรมในระดับจิตไร้สำนึก (archetypal repetitions)

การถอดรหัสสัญลักษณ์นั้น คาร์ล ยุง ซึ่งเปรียบเสมือนอาจารย์ปู่ของจิตวิทยาสายนี้ บอกว่าไม่มีรหัสใดรหัสหนึ่งที่ถูกต้องที่สุด คนแต่ละคนมีมุมมอง มุมคิด มุมรู้สึก และมุมสัมผัสต่อสัญลักษณ์แต่ละสัญลักษณ์แตกต่างกัน หรือถ้าคล้ายกันก็มีระดับความเข้มข้นในแต่ละจุดต่างกัน ดังนั้นการแปลสัญลักษณ์ในเชิงบำบัด นักถอดรหัสสัญลักษณ์ทำหน้าที่เป็นเพียงพจนานุกรม แต่ผู้อ่านและผู้ที่ต้องทำความเข้าใจ คือตัวปัจเจกบุคคลเอง

เอาละ มาดูหนังกันดีกว่าค่ะ หนังจบแล้วค่อยตั้งวงแชร์รหัสกัน
.. ข้าวโพดคั่ว พร้อม!


ตอนที่ 1

https://www.youtube.com/embed/jdEyqvBW9fI?fs=1%22%20width=%22425%22


ตอนที่ 2

http://www.youtube.com/embed/IL2oiIPI1sE?fs=1" width="425

Sunday, May 22, 2011

ฟังบรรยาย "ปัญญาแห่งความฝัน"

Dr. Pierre Grimes' reflections that the life of man is indeed rational,
and that the structure behind dreams, fantasies, and apparently random
thoughts is intelligible


The Wisdom of Dreams
1/10


2/10


3/10


4/10


5/10


6/10


7/10


8/10


9/10


10/10


Monday, May 16, 2011

โอ้ แม่กุหลาบโรย



ค่ำคืนพายุหอน
เจ้าหนอนล่องหน
กระดึบไปในความมืด

ข้าเว้าวอน
เตียงร้อนเร่า
ปรารถนาลับ
ฤากลีบเจ้าร่วง

โอ้ แม่กุหลาบโรย

...............................

The Sick Rose by William Blake
ครูแม่ส้ม - สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปล

5.16.11

Sunday, April 24, 2011

ความฝันไม่เคยหลับ เพียงแค่จิตสำนึกไม่เปิดโอกาสให้เราได้ยิน


ภาพพิมพ์เอทชิ่งของ Francesco Goya ศิลปินชาวสเปน
ชื่อภาพ "The dream of reason produces monsters" ค.ศ. 1799


คาร์ล ยุง มองความฝันต่างไปจากซิกมุนด์ ฟอรยด์ ตรงที่คาร์ลยุงไม่ได้มองว่าความฝันเป็นเรื่องของจิตปัจเจก (individual psyche) เท่านั้น แต่ความฝันมีสายใยที่มองไม่เห็นร้อยรัดพัลวันกันทั้งอนาคตกาล อดีตกาล และ ปัจจุบันกาลอย่างไม่เป็นเส้นตรงของจิตร่วมหรือจิตจักรวาล (collective psyche)


ที่ว่าไม่เป็นเส้นตรงคือคำว่า"กาล"และ"เทศะ"เป็นมิติอิสระ การรับรู้ระดับจิตสำนึก(conscious)ของเราจะรับรู้ได้ในเชิงเส้นตรงเท่านั้น แต่จิตไร้สำนึก(unconscious)รับรู้ความเป็นอิสระของ time และ space ได้อย่างที่มันเป็น


คาร์ล ยุง บรรยายในสัมนาเรื่องความฝันของวัยเยาว์ว่า "ความฝันเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าหากว่านักฟิสิกส์มองว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล คืออธิบายด้วยกฏแห่งเหตุและปัจจัยได้ ความฝันก็เช่นกัน ความฝันเป็นเหตุและปัจจัยของจิต เพียงแต่ว่าขอบแดนของจิตไร้สำนึกนั้นกว่้างใหญ่ไพศาลมาก จึงค่อนข้างจะพ้นวิสัยในการหาข้อสรุปให้ความคิดระดับจิตสำนึก(เชิงเหตุผล)เข้าใจ"


อย่างไรก็ตามจิตไร้สำนึกเป็นจิตซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และมันไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว แต่สาเหตุที่เราอ่านจิตไร้สำนึกไม่ออก ก็เพราะว่าในช่วงเวลาที่เราตื่นอยู่วันทั้งวัน จิตสำนึก(conscious)ของเรามันทำเสียงดังอึกทึกครึกโครมตลอดเวลา จนเราไม่สามารถได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก จนกว่าความง่วงจะคืบคลานเข้ามาในยามค่ำคืน จิตสำนึกจึงค่อยๆเงีบบเสียงลง เมื่อนั้นเสียงของจิตไร้สำนึกก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาในความฝัน


ครูแม่ส้ม
4. 24. 2011

ไพ่ทาโรต์ประจำคืนนี้ คือ The Temperance : ตัวเรานั้นเองคือเทพผู้ยืนอยู่ระหว่างพื้นดินและสายน้ำ เรายืนอยู่ระหว่างของแข็งและของเหลว เรายืนอยู่ระหว่างความร้อนและความเย็น เรายืนอยู่ระหว่างวัตถุธาตุและอากาศธาตุ ค่ำคืนนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้ตื่นขึ้นในความฝัน เพื่อสัมผัสถึงประสบการณ์ของจิตที่ไม่แบ่งแยก ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจความบรรสานสอดคล้องแห่งเอกภาวะ


.....

Saturday, April 23, 2011

ช่วงวัยกับความฝัน


(photo of Dream Art by Alastair Magnaldo)


บ่ายนี้ให้ต้องมาอ่านบท On the method of dream interpretation ในหนังสือเล่มหนาปึกชื่อ Children's Dream ที่รวบรวมเอาการบรรยายของศาสตราจารย์คาร์ล ยุง ในช่วงปี 1936-1940 ไว้ อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะอ่านเลย งานแปลและงานสอนก็มีหนังสือที่ต้องอ่านจนอ่านไม่ทันแล้ว แต่เมื่อเริ่มอ่านเล่มนี้ก็วางไม่ลง เลยต้องเลยตามเลย

ปู่ยุง(ใครอยากจะออกเสียงเรียกว่าจุงก็ไม่ว่ากัน)บอกว่าการศึกษาเรื่องความฝันของบุคคลนั้น ต้องย้อนไปทำงานกับความฝันในวัยเด็กด้วย มันอาจจะฟังดูยากที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆย้อนกลับไประลึกถึงความฝันครั้งแรกในชีวิต ใครจะไปจำได้ ! ยุงพูดว่า "ฉันได้ถามเพื่อน ถามนักเรียน และคนไข้ของฉันว่า ความฝันที่พวกเขาจดจำได้ว่าเป็นฝันแรกนั้นเป็นฝันตอนอายุเท่าไหร่ หลายคนตอบว่าพวกเขาจำความฝันตอน 4 ขวบได้ บางคนตอบว่า 3 ขวบด้วยซ้ำ"

ความฝันในวัยเยาว์นั้นมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะความฝันช่วงปฐมวัย เพราะความฝันในช่วงวัยนี้จะบ่งบอกบุคลิกภาพและตัวตนที่อยู่ในส่วนลึก และยังบอกถึงแนวโน้มชีวิตในวันข้างหน้าได้ด้วย แต่เมื่อพ้นช่วงปฐมวัย (7 ขวบแรก) เด็กจะเข้าสู่ช่วงไปโรงเรียน ความฝันในช่วงนี้ไม่ค่อยมีนัยยะเชิงลึกอะไร จนกระทั้งเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (ประมาณอายุ 13-20) ความฝันจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง และหลังจากนั้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความฝันก็ลดบทบาทลงอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งเราอายุ 35 ขึ้นไป ความฝันก็จะกลับมามีความหมายสำคัญกับชีวิตอีกรอบ

........

อ่านสนุกทุกหน้า ไว้จะค่อยๆมาย่อให้ฟัง

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

23 . 5 . 54 : The Sun ของเดือนหน้า (ยิ้มให้กับวันพรุ่ง เดือนพรุ่ง ที่อยู่ในลมหายใจของวันนี้เดี๋ยวนี้)

Tuesday, April 19, 2011

การเผยออกของตัวตนผ่านภาพสัญลักษณ์


(ภาพนี้เป็นภาพวาดของคาร์ล ยุง ชื่อ "The Serpent and the Tree")

การ ตีความภาพ (ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ตาเห็น ภาพในจินตนาการ หรือภาพในฝัน) การรับรู้ visual elements หรือ ทัศนธาตุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับการอ่านและตีความ จะถูกรับรู้ผ่านจิตไร้สำนึก 2 ส่วนควบคู่กันไป

- ส่วนที่มาจาก personal unconscious (จิตไร้สำนึกระดับบุคคล) เป็นการรับรู้ต่อสัญลักษณ์ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งจะตีความผ่านการรับรู้และความรู้สึกของคนอื่นได้ยาก เช่น ความรู้สึกต่อสีแดง สำหรับเรา(ปัจเจก)สามารถหมายถึงอารมณ์ได้ทุกสภาวะ เช่น เป็นความรู้สึกกลัวก็ได้ เศร้าก็ได้ ฮึกเหิมก็ได้ ดีใจก็ได้ แรงปรารถนาหรือความเกลียดชังก็ได้ (ตีความได้ไม่สิ้นสุด เพราะการรับรู้ในส่วนนี้เป็นด้าน personal archetype ซึ่งมีนับไม่ถ้วน)


- อีกส่วนหนึ่งมาจาก collective unconscious หรือ จิตไร้สำนึกสากลร่วมกันของมนุษยชาติ ในส่วนนี้เองที่ทัศนธาตุ(visual elements)ของภาพที่เข้ามาในสำนึกของเรา ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรง ทิศทาง จังหวะ ที่ว่าง พื้นผิว แสง และความเข้มข้น ฯลฯ จะสามารถอนุมานได้ว่าคนเราทุกๆคนมีชุดการรับรู้ความรู้สึกร่วมกัน ไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน ก็มีสำนึกต่อสิ่งนี้ใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงแสดงปรารถนา สีฟ้าแทนความคิด สีเขียวแทนผัสสะ และสีเหลืองเป็นสีแห่งญาณทัศนะ หรือเส้นนอนผ่อนคลาย เส้นตั้งมั่นคง เส้นเอียงเคลื่อนไหว เป็นต้น (ด้านนี้เป็น collective archetype)


ดังนั้นในการอ่านภาพ เราจึงใช้จิตไร้สำนึกทั้ง 2 ส่วนนี้ผสมกันตลอดเวลา นี่เองที่ทำให้ศาสตร์การทำนายฝัน และการพยากรณ์ด้วยภาพ ถูกใช้เป็นช่องทางเข้าไปอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นอวัจนะภาษาของจิตด้านที่เป็นจิตบอด หรือ blind area ซึ่งจิตสำนึกตามปกติประจำวันเข้าไปไม่ถึง หรืออ่านไม่ออก

 ....

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล) 
เรียบเรียงจากแนวคิดของยุงในเรื่อง ความฝัน และการเผยออกของตัวตนผ่านสัญลักษณ์

Monday, April 18, 2011

กรีดร้อง





ภาพนี้ชื่อว่า "กรีดร้อง" The Scream (1893) โดยศิลปิน Edvard Munch


ความเป็น Symbolism ในงานศิลปะ แสดงออกแบบเดียวกับภาพที่เกิดขึ้นในความฝัน ศิลปินไม่ได้สนใจเรื่องธาตุทางศิลปะหรือสุนทรียทักษะมากนัก แต่ปล่อยให้จิตใต้สำนึกเผยสัญลักษณ์ออกมาอย่างอิสระ ความงามของภาพแนวนี้ไม่ได้ตัดสินกันที่ทักษะทางฝีแปรง แต่คุณค่าอยู่ที่การเปิดเผยอย่างหมดเปลือกของตัวศิลปิน เป็นการเปลือยออกของจิตใต้สำนึกโดยที่เจ้าตัวพร้อมเสี่ยงที่จะถูกอ่าน ถูกเห็น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตำหนิ หรือถูกชื่นชม

ลัทธิทางศิลปะต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ภาพวาด ดนตรี บทกวี วรรณกรรม ล้วนเคลื่อนไปพร้อมๆกับการพลิกหน้าดินของสังคม โลกหมุนไปเป็นพลวัต สังคม การเมือง ศิลปะ มีการพลิกมีการกลับหน้าดินครั้งแล้วครั้งเล่า .. เหตุเกิดที่ถนนสีลมในวันสงกรานต์ ก็เป็นปรากฏการณ์พรวนดิน .. เป็นฝันที่เราต้องเปิดตาเปิดใจน้อมรับเขาเข้ามา เพราะเขาคือส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน

Wednesday, April 13, 2011

ในโลกฝัน ไม่ตัดสินขาว ไม่พิพากษาดำ



จิตสำนึกถูกสอนมายาวนาน นานก่อนเราเกิดแล้ว ว่าในโลกใบนี้ มีด้านสว่างและด้านมืดอยู่คู่กัน มีความดีตรงข้ามกับความชั่ว การจะอยู่รอดต้องตัดสินใจเลือกฝ่ายหนึ่งไว้ และสลัดละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไป

แต่เพราะสิ่งคู่ก็คือสิ่งคู่ เราเลือกมองหน้าเดียวของเหรียญได้ เลือกเชื่อว่าเหรียญมีเพียงด้านเดียวได้ แต่ใช่ว่าความเชื่อของเราจะทำให้เหรียญอีกหน้าหนึ่งหายไปจริงๆ

อีกด้านของเหรียญที่เราเลือกที่จะไม่มอง กลัวที่พลิกมันขึ้นมา หรือกระทั่งลืมไปแล้วว่าธรรมชาติของเหรียญคือมีสองด้าน ก็จะมาผลุบโผล่ให้เคืองใจในความฝัน โผล่มาเป็นถ้อยคำเป็นสุ้มเสียงที่เราต้องอุดหู โผล่มาเป็นภาพเป็นฉากที่เราต้องวิ่งหนีและซุกซ่อน

ฝันเหนื่อย ฝันร้าย ฝันใจหาย ... คือสัญญะที่มาสะกิดว่า ช่วยพลิกเหรียญอีกด้านขึ้นมาพิจารณาอย่างกล้าหาญเถิด

.........

(เรื่องและภาพประกอบถ่ายโดย ครูแม่ส้ม)


Sunday, March 20, 2005

มายาการกับความฝัน

.....

คนโบราณมักใช้การอุปมาอุปมัย ในการสอนเรื่องนามธรรม (การศึกษาทางเลือกหลายสำนักก็กลับมาให้ความสนใจเรื่องอุปมาอุปมัย โดยจัดอยู่เข้าหมวดญาณทัศน์ด้วย)
วันนี้แปลบท "มายาการกับความฝัน" มาให้อ่านค่ะ

.............

"เงาสะท้อน" ภาพราชสีห์คำรามเกรี้ยวกราดใส่เงาสะท้อนของตัวเองในสระน้ำ เพราะเข้าใจว่าภาพที่เห็นในน้ำนั้นเป็นราชสีห์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังคำรามใส่ตนเช่นกัน

ความฝันเป็นภาพสะท้อนของดวงจิต การปล่อยให้อารมณ์ไหลเลื่อนไปตามแรงกระตุ้นแห่งเหตุปัจจัย จึงอุปมาดังว่าเรากำลังคำรามใส่เงาสะท้อนของดวงจิตตัวเอง

ความฝันไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากดวงจิตของเรา เช่นที่รังสีของดวงอาทิตย์ไม่ได้แปลกแยกออกไปจากแสงแดด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน ท้องฟ้าก็คือจิตของเรา ภูเขาก็เป็นดวงจิตของเรา ดอกไม้ อาหาร ตลอดจนผู้คนที่เราพบเห็น ทั้งหมดล้วนคือดวงจิตของเรา ซึ่งสะท้อนเงากลับมาสู่เราผ่านการฝันนั่นเอง

"แสงฟ้าแลบ" ในค่ำคืนที่มืดสนิท เรามองไม่เห็นสิ่งรอบตัว แต่เมื่อพลันปรากฏแสงฟ้าแลบสว่างขึ้น ทันใดนั้นภาพทิวเขาตั้งตระหง่านตัดกับฉากหลังของท้องฟ้าสีดำก็ปรากฏขึ้นแวบหนึ่ง ขุนเขาไม่ได้เพิ่งจะปรากฏเมื่อเกิดแสงฟ้าแลบ แต่ขุนเขาดำรงอยู่อย่างนั้นก่อนแล้ว แม้ไม่มีสายฟ้าสว่างวาบขึ้นมา ขุนเขาก็ยังคงตระหง่านอยู่ตรงนั้น
..แสงฟ้าแลบที่สว่างวาบขึ้นมาอย่างฉับพลัน อุปมาเหมือนแสงสว่างในดวงจิตของเรา เมื่อสว่างวาบขึ้นคราใด เราก็สามารถเห็นภาพที่ต่างไป แสงฟ้าแลบในดวงจิตของเรา คือแสงแห่งวิชชา และวิชชาเองก็สถิตย์อยู่แล้วในดวงจิตของเราเหมือนภูเขาที่ตั้งตระหง่านเงียบในความมืด


"สายรุ้ง" ความฝันเปรียบเหมือนสายรุ้ง ทั้งสวยงามและเต็มไปด้วยเสน่ห์จูงใจ แต่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถจับต้องได้ สายรุ้งเป็นเพียงภาพฉายของแสงซึ่งมารวมกันในองศาที่เหมาะเจาะ ดังนั้นการพยายามติดตามเพื่อเอื้อมคว้าสายรุ้งมายึดครอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ ณ ตำแหน่งที่เราเห็นรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้น แท้จริงไม่ได้มีอะไรดำรงอยู่ตรงนั้นเลย สายรุ้งจึงเป็นเพียงการมาประชุมกันของเหตุปัจจัยอันเอื้อให้เกิดภาพลวงตาขึ้นเท่านั้น


"ดวงจันทรา"ความฝันอุปมาได้กับดวงจันทร์ ซึ่งสะท้อนเงาให้เห็นในแหล่งน้ำที่หลากหลาย ในสระบัว ในบ่อบึง ในลำธาร หรือในทะเลกว้าง ทั้งก็ยังส่องสะท้อนอยู่บนหน้าต่างกระจกนับล้านบานในเมืองใหญ่อีกด้วย ทั้งที่ดวงจันทร์มีเพียงหนึ่งเดียว หาได้มีจำนวนมากมายมหาศาลเท่าจำนวนเงาสะท้อนไม่
..อุปมาได้กับเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ปรากฏภาพแล้วภาพเล่าในความฝัน แท้จริงทั้งหมดของความมหาศาลนั้นมีแหล่งกำเนิดเพียงหนึ่งเดียวในดวงจิตของเรา


"มายากล" นักมายากลสามารถเสกก้อนหินก้อนหนึ่งให้กลายเป็นช้าง กลายเป็นงู แล้วกลายไปเป็นเสือได้ในบัดดล กลเม็ดความชำนาญของนักมายากล และความน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามได้ไม่ยาก
..ในความฝัน ตัวเราเปรียบเหมือนผู้ชมมายากล ภาพความฝันที่เราตื่นตาตื่นใจและคล้อยตาม เปรียบก็เหมือนช้าง งู และเสือของนักมายากล ซึ่งล้วนเป็นฉากลวงตาที่ถูกสร้างโดยกลเม็ดมายาของดวงจิตเรานั่นเอง


"เงาลวง" ในดินแดนอันร้อนระอุกลางทะเลทราย เมื่อองศาของเหตุปัจจัยพอเหมาะ นักเดินทางจะเห็นภาพบ้านเมืองระยิบระยับอยู่เบื้องหน้า หรืออาจเห็นแหล่งน้ำโอเอซิสเขียวชอุ่มอยู่แค่เอื้อม ภาพที่เห็นทำให้นักเดินทางอาจเดินหลงทิศ หรือทุรนทุรายไขว่คว้าไปจนสิ้นแรง
..ความฝันก็ไม่ต่างกัน ภาพที่เราเห็นในความฝันอุปมาได้กับเงาลวงตากลางทะเลทราย เมื่อใดที่เราเข้าใจว่าภาพที่เห็นเป็นความจริง และทุรนทุรายไปกับสิ่งนั้น เราก็อาจจะเดินหลงทิศและวนเวียนอยู่ในทะเลทรายจนหมดแรง โดยหารู้ไม่ว่าเงาลวงตานั้น แท้จริงเป็นเพียงการเล่นของแสงอันว่างเปล่า


"เสียงก้องสะท้อน" เมื่อยืนอยู่กลางหุบเขา เสียงตระโกนหนึ่งเสียง จะย้อนกลับมาเป็นเสียงก้องอีกหลายเสียง ถ้าตระโกนดังเสียงก้องสะท้อนก็ดังตาม ตระโกนเบา ๆ เสียงก้องสะท้อนก็เบา หรือถ้าเปล่งเสียงกระซิกร่ำไห้ เสียงก้องที่สะท้อนกลับมาก็คือเสียงกระซิกร่ำไห้อย่างนั้น
..เสียงก้องทุกเสียงที่สะท้อนไปสะท้อนมากลางหุบเขา ประหนึ่งว่ามีผู้คนเปล่งเสียงไม่ขาดสายนั้น ที่จริงมีจุดกำเนิดเสียงเพียงจุดเดียว เสียงที่ก้องสะท้อนรอบที่ตามมาอีกหลายรอบจึงเป็นมายา เสียงในความฝันก็เช่นเดียวกัน ทุกสรรพสำเนียงและเรื่องราวในความฝัน อุปมาเหมือนกับเสียงก้องกลางหุบเขาที่สะท้อนไปมาหลายตลบ ความฝันจึงคือเสียงก้องสะท้อนที่เปล่งออกไปจากจิตหนึ่งเดียวของเรานั่นเอง


.....
ตัวอย่างเหล่านี้ ย้ำให้เราตระหนักถึงธรรมชาติดั้งเดิมว่าไม่มีอะไรดำรงอยู่จริง พระสูตรในวัชรยานเรียกภาวะนี้ว่า "ความว่าง" ทางตันตระเรียกว่า "มายาการ" ส่วนคำสอนซอกเช็น เรียกภาวะนี้ว่า "เอกมณฑล"

สุบินโยคะ ไม่เน้นเรื่องการตีความสัญลักษณ์ในฝัน หรือหากจะตีความ ก็สอนให้หาความหมายที่ช่วยให้ก้าวหน้าในทางจิตวิญญาณ ให้ไปเหนือการแปลฝันหรือยึดติดกับความฝันใด ๆ


.....

๒๗ มีนาคม ๒๕๔๗
ครูแม่ส้ม : ย่อยแปล

ความฝันของผีเสื้อ

.....

วันนี้ไม่ได้แปลสุบินโยคะมาให้อ่าน
แต่จะมาเล่าเรื่อง "ความฝันของผีเสื้อ" อันลือลั่นของจวงจื้อ เมธีเต๋า

....

กาลครั้งหนึ่ง
จวงจื้อนอนหลับฝันไปว่าตัวเองกลายเป็นผีเสื้อ บินเริงร่าอยู่ในสวนดอกไม้
เจ้าผีเสื้อแสนสวยหารู้ไม่ว่าตัวเองนั้นคือจวงจื้อ
ทันใดนั้นเอง
จวงจื้อตื่นขึ้นด้วยความงุนงง
อันตัวเรานี้คือจวงจื้อผู้ฝันว่าตัวเองกลายเป็นผีเสื้อ
หรือว่า ที่แท้เราคือผีเสื้อที่กำลังฝันว่าเป็นจวงจื้อ ?

.......

"ความฝันของผีเสื้อของจวงจื้อ" นี้มีนัยยะให้ติดตาม

ในภาคฝัน ผีเสื้อบินเริงร่าอยู่ในสวน
จวงจื้อในภาคที่เป็นผีเสื้อไม่สนใจและไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ หรือเป็นจวงจื้อ เป็นใคร หรือเป็นอะไร
จวงจื้อในร่างผีเสื้อ มีเพียงขณะจิตที่เริงร่าอยู่ท่ามกลางดอกไม้ในสวน

แต่เหตุไฉน เมื่อตื่นขึ้น
จวงจื้อกลับเต็มไปด้วยความงุนงงสงสัย
ว่าที่แท้ตัวตนของตัวเองเป็นอะไรกันแน่
เป็นจวงจื้อที่ได้ฝันไปว่ากลายเป็นผีเสื้อ
หรือว่านี่คือความฝันของผีเสื้อ ที่กำลังฝันว่าเป็นจวงจื้อ

ระหว่าง "ผีเสื้อ" และ "จวงจื้อ" มีอะไรเป็นสิ่งขวางกั้น ?

.....
ครูแม่ส้ม เขียน 

๒๓ มีนาคม ๔๗

ทางเดินของปราณ

.........
วันนี้มาต่อเรื่อง "ช่องทางเดินของปราณ"


คำว่า ปราณ อาจจะได้ยินกันในหลาย ๆ ชื่อ เช่น พลังชีวิต ลมแห่งชีวิต ชี่หรือขี่(จีน) , กิ(ญี่ปุ่น) , ปราณ(อินเดีย)

ช่องทางหรือช่องผ่านของปราณ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "นาทิ" (Nadi) แปลว่า ช่องทางการเลื่อนไหล ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต เรียกว่า "นาฬี หรือ นาลี" แปลว่า ท่อหรือช่องนาฬีคือช่องทางเดินของปราณ

ในร่างกายคนเรามีนาฬีมากมาย ตำราโบราณของจีนและอินเดียบอกว่ามีมากกว่าเจ็ดหมื่นเส้น เรารู้จักนาฬีชนิดหยาบผ่านความรู้ทางการแพทย์และวิชากายวิภาค จากการศึกษาเรื่องระบบของเส้นเลือด ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบน้ำเหลือง ระบบเส้นประสาท รวมทั้งเส้นและจุดในวิชาการฝังเข็มด้วย

ช่องทางเดินของปราณที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นนาฬีของกายหยาบ แต่ในสุบินโยคะ จะพิจารณาไปถึงนาฬีของกายละเอียด กายละเอียดนี้เป็นมูลฐานของทั้งปัญญาญาณและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง นาฬีละเอียดไม่สามารถบ่งชี้ตำแหน่งที่แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหนในร่างกาย แต่เราสามารถตระหนักรู้และสัมผัสได้เมื่อได้รับการฝึก



นาฬีละเอียดมีท่อทางเดินที่เป็นนาฬีหลักอยู่ ๓ เส้นเรียงกัน โดยมีจักร ๖ จักรวางอยู่ในตำแหน่งที่เรียงลำดับกันทางตั้ง ๖ จุด และจากจักรทั้ง ๖ มีนาฬีเส้นสายย่อย ๆ อีก ๓๖๐ เส้นแผ่กระจายไปทั่วร่างกาย (ตำราทิเบตเล่มนี้จะพูดถึงจักรเพียง ๖ จักร แต่ในตำราโยคะสายอื่น ๆ จะพูดถึงจักร ๗ จักร ๙ และจักรย่อยอีกมากมายไว้ด้วย)

เส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ ของหญิง เส้นทางขวามีสีแดง เส้นทางซ้ายมีสีขาว และเส้นตรงกลางมีสีน้ำเงิน

ส่วนนาฬีของผู้ชาย เส้นทางขวาสีขาว เส้นทางซ้ายสีแดง และเส้นตรงกลางมีน้ำเงินเช่นกัน

จุดบรรจบของเส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ เริ่มต้นจากตำแหน่งที่ต่ำลงไปใต้สะดือประมาณ ๔ นิ้ว เส้นนาฬีซ้ายและขวามีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดด้ามดินสอ ตั้งคู่ขนานและขนาบอยู่ด้านหน้าของแนวกระดูกสันหลังขึ้นไปจนถึงสมอง วนกลับภายในกระโหลก ณ จุดกลางกระหม่อม แล้วย้อนลงมาเชื่อมกับโพรงจมูก

รูจมูกทั้ง ๒ ข้างจึงเป็นประตูเปิดของนาฬีหลักเส้นซ้ายและขวาส่วนนาฬีหลักเส้นตรงกลาง อยู่ด้านหน้ากระดูกสันหลัง ตั้งตรงขึ้นตามแนวกระดูกสันหลังเริ่มจากจุดใต้สะดือลงไป ๔ นิ้วเช่นกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดประมาณลำอ้อย เส้นผ่าศูนย์กลางนี้จะขยายกว้างขึ้นเล็กน้อยจากบริเวณหัวใจไปถึงจุดบรรจบที่กลางกระหม่อมบนศรีษะ

เส้นนาฬีสีขาว (ด้านขวาของชาย ด้านซ้ายของหญิง) เป็นช่องทางการเคลื่อนไหวของปราณหรือพลังงานด้านลบ และความคิดติดกรอบ

ส่วนเส้นนาฬีสีแดง (ด้านซ้ายของชาย และด้านขวาของหญิง) เป็นช่องทางเดินของพลังงานด้านบวกและปัญญา

ดังนั้น ในการฝึกฝันแบบสุบินโยคะ ผู้ชายจะนอนตะแคงตัวขวา ส่วนผู้หญิงนอนตะแคงซ้าย เพื่อผลในการกดทับและปิดเส้นนาฬีสีขาว และเปิดเส้นนาฬีสีแดงซึ่งเป็นช่องทางของปัญญาและอารมณ์ทางบวก ท่านอนนี้จะช่วยให้ประสบการณ์ในความฝันเป็นไปทางบวกและกระจ่างชัด(การฝันแบบฝันกระจ่าง หมายถึงคุณภาพของฝันที่เรารู้ตัวในฝันว่าเรากำลังฝันอยู่ ภาพและเสียงตลอดจนประสาทรับรู้จะแจ่มชัด เมื่อตื่นแล้วก็ยังจดจำความฝันนั้นได้ เรียกว่า ฝันกระจ่าง หรือ Lucid Dreaming)

ส่วนเส้นนาฬีสีน้ำเงินที่อยู่ตรงกลาง เป็นนาฬีที่อยู่เหนืออารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบ เป็นทางเดินของพลังแห่งความตระหนักรู้แจ้ง

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการฝึกสุบินโยคะ คือการชักนำจิตสำนึกและปราณมาประสานรวมกันภายในนาฬีสีน้ำเงินเส้นตรงกลางนี้ ณ ที่ซึ่งไปพ้นทั้งความรู้สึกทางบวกและความรู้สึกทางลบ ไปพ้นเวทนาทั้งปวงเมื่อภาวะนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกจะตระหนักรู้ผ่านประสบการณ์ภายในว่าอารมณ์ความรู้สึกเชิงทวิภาวะทั้งหลาย ได้หลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นความว่าง และความกระจ่างสว่างรู้

.....

ครูแม่ส้ม

ปราณ

......
ตอน "ปราณ"

ความฝันเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง ภาพในความฝันจะเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ มีความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง มีคำพูด มีบทสนทนา และมีการเคลื่อนไหวโต้ตอบทางอารมณ์ความรู้สึก เนื้อหาเรื่องราวในความฝันก่อร่างขึ้นจากอารมณ์จิตใจ แต่รากฐานที่ก่อให้เกิดความฝันนั้นมาจาก “ปราณ”

คำว่า “ปราณ” (Prana) ในภาษาทิเบตคือ Lung แปลตามตัวอักษรในความหมายทั่วไป หมายถึง “ลม” แต่ความหมายในเชิงลึก หมายถึง “ลมแห่งชีวิต” ปราณเป็นรากฐานของพลังชีวิต การฝึกโยคะอาสนะ และฝึกหายใจแบบโยคี (ปราณยาม) เป็นการเพิ่มกำลังและฟอกชำระลมแห่งชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างดุลยภาพให้กับร่างกายและจิตใจ

คติทางทิเบตได้ขยายความเกี่ยวกับลมแห่งชีวิต หรือ “ปราณ” ว่ามีคุณสมบัติอยู่ ๒ ประเภท คือ
กรรมปราณ และ ปัญญาปราณ

.......


รอยอกุศลกรรม

....

เมื่อใดก็ตามที่เราใช้อารมณ์ด้านลบโต้ตอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต เมื่อนั้น “รอยอกุศลกรรม” ได้ถูกประทับไว้แล้วทันทีในจิตของเรา และรอยอกุศลกรรมนี้ เป็นพลังที่มีอิทธิพล ทำให้ชีวิตของเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านลบอีกต่อ ๆ ไปอย่างไม่รู้จบ

ดังตัวอย่างเช่น เมื่อมีใครสักคนแสดงโทสะใส่เรา และเราโต้ตอบกลับด้วยโทสะเช่นเดียวกัน นั่นเท่ากับเราได้ทิ้งรอยกรรมแห่งโทสะจริตไว้ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายขึ้นเรื่อย ๆ โกรธบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยยั่วโทสะรอบตัวเรานั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน และนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในทำนองกลับกัน ถ้าเราไม่โต้ตอบสถานการณ์ด้วยความโกรธ ก็จะไม่มีการประทับรอยโทสะไว้ในรอยกรรมของเรา ในสถานการณ์เดียวกันเช้นนี้ บุคคลที่ถูกประทับรอยกรรมด้วยอารมณ์โกรธ กับอีกคนที่ไม่ คนทั้ง ๒ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมไม่เหมือนกัน ทั้งผลภายนอก (หน้าที่การงาน ชีวิตทางสังคม) และผลภายใน (ความสงบสุขทางจิตใจ สุขภาพทางร่างกาย ตลอดจนความคิดและสติปัญญา)

ความกลัว ความวิตก ก็เป็นอีกตัวอย่างของอารมณ์ที่ทิ้งรอยกรรมด้านลบไว้ ความกลัวความวิตกกังวลทำให้คนตกอยู่ในภาวะเครียด ความเครียดเป็นพลังงานที่แผ่ซ่านออกไปรอบทิศทางชีวิตของบุคคลนั้น เราคงจะเห็นบ่อย ๆ ว่า คนที่โกรธง่าย วิตกกังวลง่าย และมีความกลัวอยู่ในใจ จะดึงดูดเอาผลแห่งรอยกรรมด้านลบหรือด้านร้ายเข้าสู่ชีวิตของเขาเอง จนดูประหนึ่งว่าชีวิตเขาจะพบแต่โชคร้ายอยู่เนือง ๆ

แต่แม้ว่าเราจะกดอารมณ์โกรธ กดความวิตกและความกลัวนั้นไว้ในใจเงียบ ๆ ไม่แสดงการโต้ตอบออกไป รอยกรรมแห่งอกุศลจิตก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพราะการเก็บกดไว้เป็นการสำแดงความไม่พึงพอใจแบบย้อนกลับ แม้ไม่แสดงออกมา แต่ก็ไม่ได้หมดไป ยังคงซ่อนอยู่หลังประตูที่เราคล้องกุญแจไว้ มันซ่อนอยู่ในความมืดอย่างรอคอย เหมือนศัตรูร้ายที่ซุ่มเงียบ รอให้ได้ที หรือได้ฤกษ์เมื่อไร ก็พร้อมที่จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ออกมาต่าง ๆ นานา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเก็บกดความโกรธ หรืออิจฉาริษยาใครก็ตามไว้ในใจ เราจะรู้สึกได้ถึงความเดือดพล่านในอารมณ์ของเราเป็นระยะ แม้ว่าเราจะเก็บความริษยานั้นไว้เป็นความลับสุดยอด แต่ก็ไม่วายที่เราอาจจะเผลอนินทาว่าร้ายบุคคลนั้นไปอย่างไม่รู้ตัว หรือแม้ว่าเราจะปฏิเสธกับตัวเองว่าเราไม่ได้โกรธหรือริษยาใคร แต่เราก็หลอกจิตใจตัวเองไม่ได้ ตราบใดที่จิตของเรายังจับความรู้สึกโกรธ เกลียด กลัว อิจฉา หรืออาฆาตมาดร้ายที่เก็บกดไว้หลังประตูใจของเราได้ ตราบนั้นเมล็ดพันธุ์แห่งอกุศลกรรมได้ถูกหว่านไปในพื้นดินอันอุดมด้วยกิเลสเรียบร้อยแล้ว

......ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ร่องรอยแห่งอกุศลกรรมนั้นจะถูกประทับทันที ไม่ว่าเราจะสร้างอกุศลทางใดก็ตาม ทั้งทางการกระทำ ทางวาจา ทางความคิด และทางความรู้สึก

ดังนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้อุปนิสัยหรือจริตของเราขับเคลื่อนไปตามยถากรรม หรือเก็บกดความรู้สึกทางอกุศลไว้ในใจ เราสามารถเปลี่ยนรอยอกุศลกรรมได้ ด้วยการสื่อสารกับจิตวิญญาณภายในของเราให้ลดทอนอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ การสื่อสารกับตัวเองเป็นการช่วยให้เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนรอยอุกศลกรรม ให้เป็น กุศลกรรมได้

เมื่อใครสักคนทำให้เราโกรธ จริตเดิมเราอาจจะเริ่มปรากฏโทสะขึ้น แต่ด้วยการสื่อสารและเชื่อมั่นในกุศลกรรม จะช่วยให้เราค่อย ๆ เปลี่ยนความโกรธนั้นเป็นความเมตตา ขณะเริ่มฝึกใหม่ ๆ เราอาจรู้สึกว่าการปรับเปลี่ยนนี้ช่างฝืนใจและเสแสร้งเสียเหลือเกิน มันช่างไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของเราเลย

แต่ลองคิดใคร่ครวญดูดี ๆ ซิว่า บุคคลที่โกรธเกลียดเราคนนั้น เขาจะต้องถูกผลักให้เข้าไปวนเวียนอยู่ในวังวนของความโกรธอันไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องด้วยกรรมของเขาเอง จิตใจของเขาจะต้องทนทุกข์กับหลุมพรางที่ตัวเองเป็นคนขุด ต้องติดอยู่ในกับดักที่ตัวเองเป็นคนสร้าง ว่ายเวียนอยู่ในรอยอกุศลกรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เมื่อเราพิจารณาอย่างเข้าใจได้เช่นนี้ ความรู้สึกเมตตาก็จะผุดขึ้นในใจเรา เราจะเริ่มมีสติที่จะไม่กระทำการตอบโต้ด้วยจริตเดิม เพราะเราไม่อยากเข้าไปว่ายวนในทะเลทุกข์เหมือนเขา นั่นเท่ากับเราได้เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงรอยกรรมใหม่ในอนาคตของเราแล้ว ด้วยการกระทำในวันนี้ของเราเอง ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้

ผลแห่งกรรมในทางกุศลนี้ ต้องเป็นไปตามความปรารถนาที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของเราให้เติบโตอย่างอบอวลไปด้วยความสงบสันติ ความปรารถนานี้ทำให้เราศรัทธาเชื่อมั่น เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาลงไปในใจอย่างไม่รู้ตัว

คราวต่อ ๆ ไป เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เคยสร้างความโกรธเคืองให้เราอีก เมล็ดพันธุ์แห่งเมตตาธรรม จะแตกหน่อออกผลอย่างเป็นธรรมชาติในใจเรา เราจะเกิดความเมตตาขึ้นอย่างไม่ต้องฝืน อย่างเป็นธรรมดา อย่างสบาย ๆ จิตไร้สำนึกของเราไม่จำเป็นต้องสร้างกลไกการปกป้องตัวเองด้วยการโต้ตอบด้วยวิธีรุนแรงอีกต่อไป

กุศลกรรมเป็นกรรมที่สะสมทับทวีคูณ เมื่อเริ่มต้นฝึกปรับเปลี่ยนรอยกรรมใหม่ ๆ เราจะรู้สึกว่าต้องอดทน อดกลั้น ต้องฝืนใจอย่างมาก แต่เมื่อรอยกรรมที่เป็นกุศลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผลแห่งกรรมนั้นเองที่ช่วยให้ความโกรธของเราลดลงไปทีละนิด ๆ อย่างไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม ทั้งทางกาย ทางใจ และทางปัญญา

อาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม เราสามารถพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วยการฝึกใส่ใจทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในยามตื่น ในระหว่างภาวนา และในความฝัน

............

(แปลจากบางตอนของหนังสือ The Tibetan Yogas of Dream and Sleep

เขียนโดย เท็นซิน วังจัล รินโปเช)ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปลรูปประกอบวาดเมื่อ มีนาคม ๔๖

รอยกรรมและความฝัน

........

"รอยกรรม และ ความฝัน"

อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด จินตนาการ ทรรศนะ การรับรู้ ตลอดจนสัญชาตญาณ หรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า “จิตสำนึกและจิตไร้สำนึก” ปรากฏขึ้นจากรอยกรรมของปัจเจกบุคคล
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง ด้วยความรู้สึกที่หดหู่เศร้าหมองอย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์ในเช้านี้ แทนที่จะสดชื่นแจ่มใสเหมือนเช้าวันอื่น ๆ กลับหนักอึ้งหม่นมัว แม้จะรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ความรู้สึกหดหู่ก็ยังไม่หายไปไหน

ที่แย่กว่านั้นคือ คิดอย่างไรก็หาต้นเหตุที่ทำให้อารมณ์หม่นหมองนั้นไม่พบ เพิ่งตื่นแท้ ๆ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบให้อารมณ์เสียสักอย่าง เรื่องราวขัดใจกับใครก็ไม่มี เหตุใดอารมณ์จึงไม่สดชื่นแต่เช้า ดูช่างไม่สมเหตุสมผลเสียจริง ๆ

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล อารมณ์หม่นหมองที่เกิดขึ้นในตอนเช้า เกิดจากความเหมาะเจาะสอดคล้องของเหตุปัจจัยแห่งกรรมที่เรามองไม่เห็น กรรมที่เป็นต้นตอของจิตหมองนี้มีเหตุปัจจัยมากมายเหลือคณานับ รวมทั้งเหตุปัจจัยที่ก่อรูปขึ้นในความฝันยามหลับด้วย แม้ว่าเธอจะตื่นมา แล้วพูดว่าเมื่อคืนไม่ได้ฝันอะไร หรือได้ลืมความฝันไปแล้ว แต่อารมณ์ความรู้สึกในฝันยังคงตกค้างอยู่ ซึ่งทำให้จิตใจเศร้าหมองอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ

ในช่วงเวลากลางวันที่ร่างกายของเราตื่นอยู่ จิตจะทำงานคู่ขนานไปกับความคิดเชิงเหตุผลอยู่เสมอ แต่เมื่อร่างกายของเรานอนหลับและเข้าสู่ห้วงของความฝัน จิตขณะฝันของเรา เป็นจิตที่อิสระจากวิสัยเชิงเหตุผล เปรียบเทียบคล้ายกับการถ่ายภาพ วันหนึ่ง ๆ เราได้บันทึกภาพมากมายลงบนฟิล์ม ผ่านความคิด ผ่านประสบการณ์ ผ่านความจำ และผ่านความรู้สึก ภาพแต่ละภาพถูกบันทึกไปอย่างต่อเนื่อง ครั้นพอตกค่ำคืน ขณะที่ร่างกายของเรานอนหลับ กระบวนการล้างฟิล์มได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ภาพที่ล้างออกมา ปรากฏเป็นความฝันในแต่ละคืน ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงที่จิตบันทึกไว้ในชีวิตประจำวันขณะตื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากรอยกรรมในอดีต

ภาพหรือความฝันที่เกิดขึ้นในแต่ละคืนจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเฉพาะของรอยกรรมที่ปรากฏในช่วงนั้น ๆ บางคืนภาพที่เราเห็นในความฝันก็ช่างมีอานุภาพต่อจิตใจเราอย่างรุนแรง เปรียบเหมือนภาพที่ชัดเสียจนตื่นมาแล้วก็ยังจดจำได้ทุกรายละเอียด จำทุกอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ได้ แต่บางฝันก็ทิ้งไว้เพียงความจำที่เลือนลาง เหมือนภาพที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ผ่านไป ตื่นมาก็จำอะไรไม่ค่อยได้จิตของเราทำหน้าที่คล้ายหลอดไฟของเครื่องฉายภาพ ซึ่งให้ความสว่างแก่รอยกรรมที่ถูกกระตุ้นด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เมื่อหลอดภาพที่ถูกจุดให้สว่างขึ้น ประกอบเข้ากับรอยกรรมที่ถูกกระตุ้น จึงก่อให้เกิดภาพและประสบการณ์ที่เรียกว่า “ความฝัน”

ความจริงกระบวนการฉายแสงให้จอสว่างเพื่อที่เราจะได้เห็น “ภาพหรือประสบการณ์” เบื้องลึกของจิตอย่างแจ่มชัด ก็เกิดขึ้นในขณะที่เราตื่นด้วยเหมือนกัน แต่กระบวนการฉายภาพเบื้องลึกเช่นนี้ จะเห็นและเข้าใจได้ง่ายกว่าในความฝัน เพราะว่าในฝัน เราสามารถสังเกตทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นอิสระจากข้อจำกัดและเงื่อนไขเชิงเหตุผลอย่างที่เราเคยชินในช่วงเวลาตื่นอีกประการหนึ่ง

ในระหว่างวันของชีวิตยามตื่น เราไม่สามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ภายในได้สนิทเหมือนขณะฝัน เพราะความคิดที่ติดยึดว่าประสบการณ์ขณะตื่นเป็น “ของจริง” ทำให้คนทั่วไปมักตัดสินว่า “โลกภายนอก” คือโลกแห่งความเป็นจริง และนี่เป็นข้อจำกัดของความคิดเชิงเหตุผลแบบทวิภาวะ ที่แบ่งแยกโลกภายนอกออกจากโลกภายใน และแบ่งแยกโลกของจริงออกจากโลกฝัน

ในทางสุบินโยคะ ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนจิต เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประสบการณ์ทุกมิติทั้งยามตื่น และยามหลับฝัน และเพื่อให้สามารถเชื่อมโลกภายนอกเข้ากับโลกภายใน เชื่อมประสบการณ์ภายนอกเข้ากับประสบการณ์ภายใน เมื่อจิตมีความเป็นหนึ่งเดียว จิตจึงจะว่องไวต่อความตระหนักรู้ ทั้งในชีวิตยามตื่นและชีวิตยามหลับ จิตที่ว่องไวและตระหนักรู้ มีผลต่อการกำหนด “กรรม” และ “รอยกรรม” ชุดใหม่

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รอยกรรมที่เก็บซ่อนอยู่ในอาลัยวิญญาณ จะปรากฏออกมาเมื่อเกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของเหตุปัจจัยทั้งหลาย และการปรากฏของรอยกรรมก็มิได้ปรากฏเฉพาะในชีวิตยามตื่นเท่านั้น แต่จะไปปรากฏในชีวิตยามหลับด้วย

การฝึกจิตเพื่อปรับปรุงตัวเองสู่กุศลกรรม เราอาจจะได้กระทำอยู่บ้างแล้วในช่วงชีวิตยามตื่น สำหรับการฝึกในด้านความฝันอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกันนัก แต่กุศลกรรมจากการฝึกปฏิบัติแต่ละครั้ง ก็จะเป็นแรงหนุนให้เกิดรอยกรรมใหม่ซึ่งช่วยนำให้การฝึกครั้งต่อ ๆ ไปง่ายยิ่งขึ้น สามารถนำจิตวิญญาณเข้าสู่กระบวนการฝึกชั้นสูงขึ้นได้เอง

การฝึกเช่นนี้ไม่ใช่การใช้กำลังของจิตสำนึกไปบีบคั้นบังคับเพื่อเปลี่ยนจิตไร้สำนึกแต่อย่างใด แต่การฝึกฝันตามแบบโยคะทิเบต เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาจิตวิญญาณ โดยอาศัยความเข้าใจตามหลักของ “กฏแห่งกรรม”ด้วยจิตที่มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา (ทั้งยามตื่นและในฝัน) เราจึงจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ที่สะสมอยู่ในอาลัยวิญญาณ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (วิชชา) เมื่ออาลัยวิญญาณไม่ถูกต่อยอดด้วยอวิชชา จิตที่คลุมเครือก็จะค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้น เป็นจิตที่สว่างไสวเมื่อจิตสว่างบริสุทธิ์ รอยกรรมซึ่งเป็นรากของความฝันก็จะไม่ปรากฏ กระบวนการล้างฟิล์มในขณะหลับก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อนั้นจึงจะไม่มีทั้งเรื่องราวในฝัน ไม่มีผู้ฝัน และไม่มีความฝัน คงมีแต่ภาวะแห่งความรู้แจ้ง นี่เป็นเหตุที่เราเรียกภาวะของการสิ้นสุดความฝันว่า “การตื่นรู้” (การตื่นอย่างแท้จริง)
........

ครูแม่ส้ม   

จิตที่คลุมเครือ

...........
วันนี้ครูแม่ส้มแปลสุบินโยคะ ตอน "จิตที่คลุมเครือ"
...........

“รอยกรรม” คือผลที่เกิดจากจาก “กรรม” หรือ “การกระทำ” ในอดีตทั้งหมด
ที่เรียกว่า “การกระทำ”นั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงการกระทำทางกาย แต่หมายรวมไปถึงการกระทำทางความคิด การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจด้วย เป็นผลแห่งการกระทำที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต

รอยกรรมนี้มีที่อยู่เฉพาะเป็นพิเศษ ภาษาสันสกฤต เรียกว่า “อาลัยวิญญาณ” (alaya vijnana) ซึ่งคือที่พำนักของรอยกรรมนั่นเอง อธิบายง่าย ๆ ก็หมายถึงที่พักของจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกทั้งหมด ที่สะสมอยู่ในจิตใจของเรา ซึ่งเป็นจิตที่ยังไม่รู้แจ้ง เป็นจิตที่ยังคลุมเครือ เป็นจิตที่ยังสับสนวุ่นวาย และเป็นจิตที่ยังมีกิเลส

อาลัยวิญญาณ หรือที่พักแห่งจิตที่ยังคลุมเครือนี้ ไม่ปรากฏให้สามารถชี้ตำแหน่งที่แน่ชัดลงไปทางกายภาพได้ว่าอยู่ตรงไหน อยู่ตรงหัวใจ หรืออยู่ในสมอง เพราะอาลัยวิญญาณมีภาวะที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้เงื่อนไขของกรรม อุปมาง่าย ๆ อาลัยวิญญาณ เป็นดั่งคลังล่องหนที่เก็บทุกชิ้นส่วนของอารมณ์ความรู้สึกของเรา เป็นท้องพระคลังที่เก็บรวบรวมแบบแผนโครงสร้างชีวิตของเราอย่างละเอียด

แบบแผนโครงสร้างที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังอารมณ์ที่เรียกว่า “อาลัยวิญญาณ”นี้ เป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมและประสบการณ์ทั้งหมด ทั้งพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายใน ประสบการณ์ภายนอก และประสบการณ์ภายในเมื่อร่างกายของคนเราสิ้นอายุขัย กายหยาบก็เน่าเปื่อยหมดสภาพไปตามธรรมชาติ แต่อาลัยวิญญาณนั้นยังคงดำรงอยู่ รอยกรรมที่ถูกเก็บไว้ในคลังที่มองไม่เห็นนั้น จะยังคงติดตามไปกำหนดแบบแผนชีวิตใหม่ของเราต่อไป ตราบใดที่จิตยังคลุมเครือไปด้วยความไม่รู้ ผลแห่งกรรมก็ยังคงถูกเก็บสะสมอยู่ในอาลัยวิญญาณไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะเข้าถึงความรู้จริง รู้แจ้ง เมื่อนั้นอาลัยวิญญาณก็จะสลายไป

....

จาก The Tibetan Yogas of Dream and Sleep
เท็นซิน วังจัล รินโปเช

ครูแม่ส้ม : ย่อยแปล

๒.ประสบการณ์เกิดได้อย่างไร

........

"ความไม่รู้ "

ประสบการณ์เกือบทั้งหมดในชีวิตเรา รวมทั้งประสบการณ์ในความฝันด้วย เกิดขึ้นจากความไม่รู้ที่บริสุทธิ์ การพูดเช่นนี้ค่อนข้างจะกระทบหลักการของชาวตะวันตกนิดหน่อย แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า “ความไม่รู้“ (ma-rigpa*)

ธรรมเนียมอย่างทิเบต จำแนกความไม่รู้ออกเป็น ๒ พวก คือ ความไม่รู้แต่กำเนิด และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ก. ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คือรากฐานของวังวนแห่งสุขทุกข์ (วัฏสงสาร) ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน เป็นความไม่รู้ถึงธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเอง ไปจนถึงความไม่รู้ในธรรมชาติเดิมแท้ของโลกและจักรวาล นี่เองเป็นเหตุที่จูงมนุษย์เข้าไปพัวพันกับมายาการแห่งจิตที่เต็มไปด้วยทวิภาวะ ทวิภาวะลวงเราให้ตกอยู่ในรูปธรรมแห่งความเป็นขั้ว ๒ ด้านตรงข้ามกัน จำกัดประสบการณ์ของเราให้จำแนกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น ๒ ไม่ขาวก็ดำ ไม่ถูกก็ผิด มีฉันและมีเธอ

และด้วยความไม่รู้ที่นำเรามายึดติดกับการแบ่งแยกเช่นนี้ ได้พาเราพัฒนาไปสู่ความเคยชินต่อการตัดสินสิ่งต่าง ๆ พอชอบก็รัก ครั้นไม่ชอบก็ชังที่สุดก็นำเราไปสู่การตัดสินตัวเอง ฉันเป็นคนอย่างนั้น ฉันเป็นคนอย่างนี้ ฉันต้องการอย่างนี้ ฉันไม่ต้องการอย่างนั้น ฉันชอบที่จะอยู่ที่นั่นมากกว่าที่นี่ สิ่งนี้ฉันชอบ ฉันนับถือ แต่ถ้าสิ่งที่ตรงข้ามและต่างออกไปก็คือสิ่งที่ฉันรังเกียจ

เราแสวงหาความพึงพอใจ ความสุขสบาย ความร่ำรวย สุขอนามัยที่ดี และยศฐาบรรดาศักดิ์ เราล้วนต้องการสิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเราเองและบุคคลที่เรารัก และแล้วเราก็ละเลยมนุษย์คนอื่น ๆ เราหิวกระหายประสบการณ์แปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากที่เราเคยผ่านพบมาแล้ว เราไขว่คว้าประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันเรากลับพยายามสุดชีวิตที่จะหลีกหนีไปให้พ้นจากประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ล้วนคือ “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด

ข. ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อความปรารถนาโคจรมาพบกับความรังเกียจเดียจฉันท์ ก่อร่างขึ้นเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ประมวลผลด้วยระบบคุณค่าของสังคมนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ชาวฮินดูเชื่อว่าการกินเนื้อวัวนั้นบาป กินเนื่อสุกรดีกว่า ส่วนชาวมุสลิมกลับเชื่อว่าควรกินเนื้อวัว และห้ามกินเนื้อหมูเด็ดขาด ชาวทิเบตกินทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู

ทีนี้ใครผิดใครถูกกันเล่า ชาวฮินดูย่อมเชื่อว่าคนฮินดูนั้นถูก ชาวมุสลิมก็ต้องยืนยันว่ามุสลิมนั้นก็ถูก และชาวทิเบตก็ย่อมต้องเชื่อว่าตัวเองก็ถูกเช่นกัน ความเชื่อที่แตกต่างแปลกแยกเช่นนี้ เกิดขึ้นมาจากมายาคติทางวัฒนธรรม มิใช่เกิดจากรากฐานที่แท้จริงทางปัญญา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่ง คือความขัดแย้งภายในของสำนักปรัชญาต่าง ๆ การก่อกำเนิดขึ้นของระบบปรัชญาหลายสำนัก เกิดขึ้นมาจากการพยายามตีความเพื่อหาข้อโต้แย้งและข้อผิดพลาดของสำนักปรัชญาอื่น แม้ว่าเป้าประสงค์ของตัวระบบปรัชญาเองจะมีเจตนาอยู่ที่การเติบโตทางสติปัญญาก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันระบบเช่นนี้ก็ได้ก่อร่างความไม่รู้แห่งการยึดมั่นถือมั่น และสร้างความจริงเชิงทวิภาวะขึ้น

ความเข้าใจสัจจะด้วยระบบคิดทางปรัชญาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะโดยตัวมันเองก็เป็นการสถาปนาความจริงแห่งความไม่รู้ขึ้นด้วยเช่นกันความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ได้ถูกพัฒนาและสงวนไว้อย่างเข้มแข็งผ่านจารีตประเพณี ได้แผ่ซ่านครอบคลุมไปในทุก ๆ วัตรแห่งชีวิต และในทุกโครงสร้างของการศึกษา ทั้งระดับบุคคล และระดับสังคม จนเป็นที่ยอมรับกันว่าความไม่รู้เช่นนี้คือสามัญสำนึกแห่งมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือกฏของพระผู้เป็นเจ้า

ในช่วงชีวิตของคนเรา ถูกผูกแนบเข้ากับหลักความเชื่อจากหลายทิศทาง ทั้งจากนโยบายทางการเมือง จากระบบทางการแพทย์ จากความเชื่อทางศาสนา และจากระบบการศึกษา เหล่านี้หล่อหลอมวิธีคิด วิธีรู้สึก ไปถึงวิธีตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างเราเข้าชั้นเรียนอนุบาล ผ่านชั้นประถม มัธยม และในที่สุดรางวัลแห่งปริญญาบัตรนั้นเองได้กลายเป็นประกาศิตแห่งความไม่รู้

ระบบการศึกษากระแสหลักปลูกฝังนิสัยในการตรวจสอบโลกด้วยเลนส์ที่ชื่อว่า “อวิชชา” ซึ่งทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมความไม่รู้ขึ้น เราภาคภูมิและชื่นชมความไม่รู้เช่นนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ผู้ชำนาญการเหล่านี้ ล้วนร่ำเรียนและใช้เครื่องมือที่แหลมคมในการตรวจสอบทุกรายละเอียดของความรู้

แต่ตราบใดที่ความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) ยังไม่ถูกทะลุทะลวง ความรู้ที่ได้นั้น ก็จะเป็นเพียงปัญญาแห่งมายาคติเท่านั้นเราถูกทำให้ติดกับอยู่กับความเชื่อด้วยความไม่รู้ทางสังคม ตั้งแต่อนุบริบทในชีวิตส่วนตัว เช่นการเลือกยี่ห้อสบู่ ยาสีฟัน การจัดทรงผมให้เข้าสมัยของแฟชั่น ไปถึงบริบทขยายที่พัฒนาขึ้นผ่านความเชื่อทางศาสนา ระบบการเมือง ระบบคิดทางปรัชญา การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และความพยายามเข้าใจมนุษย์ผ่านวิชาจิตวิทยา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความเชื่อว่า การกินหมูนั้นบาป การกินเนื้อวัวนั้นบาป ไม่มีทารกคนไหนที่เกิดมาพร้อมกับความเชื่อโดยกำเนิดว่า ศาสนานี้ดีกว่าศาสนานั้น หรือหลักปรัชญานี้ถูกต้องและหลักปรัชญานั้นผิด ความเชื่อพวกนี้ล้วนถูกปลูกฝังผ่านกระบวนการการเจริญเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ในแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย

การสวามิภักดิ์ต่อคุณค่าแห่งความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความคับแคบและข้อจำกัด อันนำเราไปสู่การตัดสินโลกแบบทวิภาวะ และข้อจำกัดเหล่านี้ เบื้องลึกแล้วก็ล้วนเกิดมาจากความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) นั้นเอง

ที่กล่าวมาเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร เป็นแต่เพียงการเสนอให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังถูกพันธนาการด้วยทวิปัญญา มนุษย์ก็ยังต้องก่อสงครามขึ้นมาประหัตประหารกัน เท่า ๆ กับที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีและศิลปะวิทยาการที่มีประโยชน์ต่อตนเองฉะนั้น

ในทิเบต มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเราอยู่ในร่างของลา จงสำราญในรสแห่งต้นหญ้า” กล่าวอีกนัยหนึ่ง จงชื่นชมและเพลิดเพลินกับชีวิตนี้ เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความหมายและมีคุณค่าในตัวเอง และที่สำคัญ มันเป็นชีวิตที่วิญญาณเราพำนักอยู่หากเราไม่สามารถดูแลที่พำนักแห่งวิญญาณ (อาลัยวิญญาณ)นี้ได้เอง คำสอนของครูบาอาจารย์ ก็สามารถช่วยนำทางเราได้

แต่บางคนอาจจะกล่าวว่า “ความอยาก” ที่จะไปพ้นความไม่รู้ และความพยายามกำจัดการเสพติดในรสต่าง ๆ นั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน หรือบางคนอาจจะพูดว่าชีวิตเราล้วนดำเนินไปตามความไม่รู้แห่งสังสารวัฏ มันเป็นความคลุมเครือพื้นฐานแห่งจิตใจของมนุษย์เท่านั้นเอง ดังนั้นจงร่ายรำไปในมณฑลแห่งความไม่รู้นั้นเถิด เพราะการต้านทานธรรมชาติของความไม่รู้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับความคิดแบบทวิภาวะ

สังเกตดูสิ คำพูดและความคิดเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเห็นว่า แม้แต่คำสอนหรือศีลเองก็ยังถูกตีความไปอย่างวิปริตสับสนดังตัวอย่างที่เห็นกันอยู่เนือง ๆ เมื่อคำว่า”ไร้ศีลธรรม” ได้ถูกตีความด้วยความไม่รู้เชิงทวิภาวะ และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ตื้นเขินและสับสนต่อคำว่า “ไร้ศีลธรรม” จนไม่สามารถเข้าใจถึงรากฐานที่แท้จริงแห่งความไร้ศีลธรรมได้ ความไม่รู้และความเข้าใจผิดเช่นนี้ เป็นคำตอบว่า ทำไมการฝึกฝนในวัตรปฏิบัติที่นำเราให้พบประสบการณ์ตรงจากภายในจึงสำคัญยิ่ง เพราะการปฏิบัติและประสบการณ์ภายใน จะช่วยยกระดับการรับรู้ของเราให้ละเอียดขึ้น ช่วยให้แนวโน้มที่เราจะตัดสินโลกแบบทวิภาคค่อย ๆ จางลง

............

คัดเรื่องเกี่ยวกับความฝันในแง่มุมทางทิเบต หรือ สุบินโยคะ
ซึ่งได้แปลไว้อย่างไม่เป็นทางการมาให้อ่าน
ผู้เขียน คือ เท็นซิน วังจัล รินโปเช

ครูแม่ส้ม : สมพร  อมรรัตนเสรีกุล แปล