Thursday, December 08, 2011

วิกฤต .. ไอ้เบื๊อก .. และผู้กล้า




ประโยคเตือนใจของคนจีนที่ว่า"วิกฤตคือโอกาส"นั้น ถ้าอธิบายเชื่อมโยงกับเรื่อง"ตัวตนใหม่" ใน Individuation ของคาร์ล ยุง  ก็จะอธิบายได้ว่า   วิกฤตการณ์ที่สำคัญๆแต่ละครั้งของชีวิต ล้วนมีนัยยะและเหตุผลของการเกิดขึ้น 


และแต่ละครั้งที่คนเราเผชิญวิกฤต(crisis) ไม่ว่าจะดีกรีขนาดไหนก็แล้วแต่ ล้วนเป็นสัญญาณของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ส่งออกมาจากจิตไร้สำนึกบุคคล(personal unconscious) 

นักจิตบำบัดสายยุงเกี้ยนเห็นพ้องกันว่า แบบแผนการทำงานของจิตไร้สำนึกระดับปัจเจกบุคคลนั้นเชื่อมสัมพันธ์กับแบบแผนหลักของจิตไร้สำนึกใหญ่ที่เป็นจิตไร้สำนึกร่วมกันของมนุษยชาติ หรือ collective unconscious 

หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นแบบแผนการใช้ชีวิต  กระบวนการของจิตและพฤติกรรม  หรือรูปแบบและกลยุทธ์ที่เราใช้อยู่ทุกๆวันจนกลายเป็นสัญชาตญาณประจำตัว  ไม่ว่าผู้คนในอดีตนับพันปีมาแล้ว  หรือคนในยุคสมัยปัจจุบัน  ไม่ว่าคนเผ่าพันธุ์ไหน  อยู่ซีกโลกไหน สีผิวสีตาสีผมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จิตไร้สำนึกจะทำงานตามแบบแผนหรือ pattern ที่เป็นวงจรดำเนินซ้ำ 

แนวคิดนี้สามารถค้นและศึกษาเพิ่มเติมได้จากหัวเรื่องเหล่านี้  
  • Collective Archetype, Collective Psyche , 
  • รหัสศาสตร์ใน Symbolism และ Mythology , 
  • Psychology of Selves ใน Voice Dialogue method, 
  • จิตวิทยางานกระบวนการ หรือ Process Work , 
  • การศึกษาเรื่องความฝันซึ่งส่งผลกระทบกายและจิตอย่างเป็นองค์รวม หรือ Psychosomatic theory of dreams (โยงกับอี้จิงและชี่บำบัดของจีน) 
  •  Family Constellation  (ทำงานกับจิตระดับญาณทัศนะ(Intuition) ซึ่งคาร์ล ยุง เรียกว่าจิตไร้สำนึกร่วม (Collective Unconsciou)
  • รวมถึงระบบจิตวิทยาโบราณที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมานับพันปีในศาสตร์ไพ่พยากรณ์  Tarot(ทาโรต์) , เลขศาสตร์ (Numerology)  และ โหราศาสตร์ (Astrology)  เป็นต้น
ดังนั้นถ้าหากว่าเมื่อไรเปิดไพ่ทาโรต์ได้ไพ่วิกฤต  แล้วคนอ่านไพ่ทำนายไปในทางที่ทำให้เราตกใจ  อกสั่นขวัญหนีดีฝ่อ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหนทาง  และเกิดความกลัวขึ้นมา    ขอให้ตระหนักไว้ว่าไพ่ไม่ได้มีอำนาจเหนือเรา   จิตไร้สำนึกของเราเองต่างหากที่เป็นผู้ดึงไพ่ใบนี้ออกมา    และจิตไร้สำนึกของเรากำลังเตือนเราว่า"โอกาสของการปรับเปลี่ยนชีวิต"อยู่ตรงหน้าแล้ว   อยู่ที่ว่าเราจะ"เลือก"เดินต่อหรือยอมแพ้

การปรากฏขึ้นของไพ่แต่ละใบ  คือคำเตือนที่ปัญญาญาณด้านใน(Intuition)ที่อยู่ในจิตไร้สำนึกกำลังพยายามสื่อสารกับจิตสำนึก(conscious)     ประเด็นสำคัญคือเราทุกคนกำลังเดินทาง  และเมื่อมาถึงจุดหักเหของเส้นทาง   ตัวเรานั้นเองคือ"ผู้เลือก"   เลือกว่าจะเดินไปทิศทางไหน   เลือกวิถีทิศ  เลือกอาวุธคู่กาย  เลือกที่จะสู้และฝ่าฟันความยากลำบาก  และเลือกที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อนำกลับไปมอบให้อนุชนรุ่นหลัง  

วิถีแห่ง"ผู้(กล้า)เลือก"  ปรากฏอยู่ทั้งใน The Fool's Journey (ไพ่ทาโรต์ชุดหลัก-Major Arcana)  และใน The Hero's Journey  ซึ่งโจเซฟ แคมเบลล์ (Joseph Campbell)ศิษย์คนหนึ่งของคาร์ล ยุง เรียกแบบแผนวงจรของผู้กล้า(เลือก)ซึ่งดำเนินซ้ำๆมาทุกยุคทุกสมัยนี้ว่า Monomyth


เมื่อ"วิกฤต"ทำให้เราสำนึกได้ว่า"ถ้าอยากจะรอดก็ต้องกล้าเลือก"   ในจังหวะที่สำนึกนั้นเกิดขึ้น  ทัศนคติการมองโลกเดิมก็เปลี่ยนไป  เรากำลังกลายร่างเป็นคนใหม่(transforming)   และนี่เป็นกระบวนการเติบโตจากด้านในระดับปัจเจกบุคคล(personal transformation) ที่คาร์ล ยุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นรอบๆ(loops)ตลอดช่วงชีวิตของคนเรา 

ครูแม่ส้ม 
คุยกันต่อได้ที่เฟสบุ๊คเพจ (คลิก)  ถอดรหัสภาพ ไพ่ และความฝัน 

Wednesday, June 08, 2011

เหตุแห่งฝัน 1>2>3>4>6 ของคาร์ลยุง


มาจากเพจครูแม่ส้ม


มีเรื่องน่ารักเกิดขึ้นในหนังสือ Children's Dream ซึ่งรวบรวมคำบรรยายของดร.คาร์ลยุงเกี่ยวกับความฝันของวัยเยาว์ ในบทที่พูดถึงต้นเหตุและปัจจัยที่มำให้เกิดกระบวนการความฝัน หรือ dream process นั้นมีเยอะแยะมากมาย แต่สรุปสั้นๆได้ 5 สาเหตุ คือ

‎1. Somatic sources : คือปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความเจ็บป่วย การนอนในท่านอนที่ผิดปกติ เช่นนอนทับแขน หรือตกหมอน หรืออาหารไม่ย่อย ฯลฯ อันนี้ก็ตรงกับที่เราเรียกว่าฝันเพราะ"ธาตุกำเริบ" (ธาตุโขภะ)




2. Physical stimuli หรือ physical environment ที่เป็นตัวกระตุ้นในช่วงที่เรานอนหลับ เช่น แสงฟ้าแลบ เสียงฟ้าร้อง หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ฯลฯ





‎3. Psychical stimuli (psychical occurrences in the environment are perceived be the unconscious) หัวข้อนี้ค่อนข้างซับซ้อน เป็นปรากฏการณ์ที่จิตไร้สำนึกถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณบางอย่าง ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่ และสิ่งแวดล้อมของจิต เขายกตัวอย่างเช่น มีแขกมานอนค้างคืนที่บ้าน แล้วแขกคนนี้ก็ฝันถึงเรื่องราวปมปัญหาของคนในบ้านหลังนั้น ทั้งๆที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ยุงอธิบายถึงพลังงานบางอย่าง(ปมปัญหา)ที่ฟุ้งกระจายออกไปในสิ่งแวดล้อมโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว .. เขาเรียกข้อมูลประเภทนี้ว่าเป็นข้อมูลที่ลักลอบเข้ามาในความฝัน

[แปล: มันเป็นเรื่องที่เราไม่น่าจะไปรับรู้ แต่เราก็รับรู้มันจนได้ ราวกับว่าจมูกของเรายื่นทะลุกำแพงเข้าไป และสูดดมข้อมูลที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศโดยที่เราไม่ได้เจตนาเลย]





‎4. Past events : อดีตในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องที่ผ่านไปเมื่อเช้า เมื่อวาน หรือปีที่แล้ว แต่หมายถึงร่องรอยความทรงจำทั้งที่จำได้ ลืมไปแล้วแต่รู้ว่าลืม และลืมไปและไม่รู้ว่าลืม (ยุงเรียกว่าเป็นข้อมูลที่ขาดการติดต่อกับจิตสำนึก) รวมไปถึงอดีตที่เป็นผลพวงจากการพิมพ์ซ้ำของแบบแผนทางจิตที่เป็นสากล (collective psyche) .. มีตัวอย่างการฝันว่าละเมอพูดภาษาแปลกๆที่เจ้าตัวไม่รู้จัก แต่บังเอิญว่าคนที่ได้ยินรู้ว่าคนที่กำลังนอนละเมอนั้นพูดภาษาอะไร




5 . Future events : อันนี้เป็นฝันเปลี่ยนวิถี

......

Note แปะไว้


เคยอ่านเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งของปู่ยุง(นานแล้วหาต้นตอไม่เจอ) บอกว่าการศึกษาวิทยาการ(ในยุคของแก) นักวิชาการให้คุณค่ากับจิตสำนึกมากไปโดยถือว่า จิตสำนึก(conscious) เป็นเรื่องที่มีสาระ (make sense) และไม่ค่อยให้คุณค่ากับจิตไร้สำนึก (unconscious) เพราะจิตไร้สำนึกทำงานอย่างคลุมเครือ ทำให้นักวิชาการมองข้ามเรื่องจิตไร้สำนึกไปและมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ (nonsense) .. แต่กระนั้นคาร์ลยุงก็มุ่งมั่นค้นคว้าและศึกษาเรื่อง"เหนือสาระ"ของแกต่อไป




ภายหลังประโยคนี้ของปู่แกได้กลายเป็นประโยคยอดนิยมของสานุศิษย์จิตวิทยายุงเกี้ยน ..."The pendulum of the mind oscillates between sense and nonsense, not between right and wrong." (จากหนังสือ Memories, Dreams, Reflections)




เหตุผลที่นักมนุษยนิยมทางเลือกเป็นศิษย์สายยุงเกี้ยนกันเยอะ เพราะแนวคิดของคาร์ลยุง เป็นแนวคิดที่ไม่นิยมตัดสินแบบถูก-ผิด หรือแบบขาวจัด-ดำจัด ยุงอธิบายไว้หลายแห่งเกี่ยวกับเรื่องสัญลักษณ์วงกลมหยินหยางซึ่งอ้างอิงจากตำราอี้จิงของจีน (กระทั่งปู่แกมีตราสัญลักษณ์ส่วนตัวเป็นรูปหยินหยางกะเขาด้วย)







ในวงกลมหยินหยาง (อันที่จริงต้องเรียกว่าวงกลมไท่จี๋..ปล.ไท่จี๋ไม่ได้แปลว่ามวยจีนแต่เป็นปรัชญาการใช้ชีวิต) ในสีขาวและสีดำของวงจรหยินหยางนั้น เป็นธรรมชาติแห่งทวิภาวะ หรือกฏของสิ่งคู่ตรงข้าม ซึ่งเป็นข้อหนึ่งของกฏธรรมชาติ แต่กฏของสิ่งคู่ตรงข้ามดำเนินคู่ไปกับกฏอีกกฏหนึ่งคือกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงหรือการหมุนเวียนแทนที่ ดังนั้น หยิน(ส่วนสีดำ)ก็จะแปรเปลี่ยนมาเป็นหยาง(ส่วนสีขาว)เมื่อ ถึงเวลาที่เหมาะสม ดังเช่น กลางคืนและกลางวัน ..

ด้วยกฏธรรมชาตินี้ คาร์ลยุงกล่าวว่า ที่เขาพูดว่า ลูกตุ้ม(เพนดูลัม)ของจิต แกว่งไปมาระหว่างขั้วสองข้างตลอดเวลา (เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่มีชีวิต) ด้านหนึ่งคือ จิตสำนึก อีกด้านคือ จิตไร้สำนึก ไม่ว่าเราจะสำเหนียกรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลูกตุ้มชีวิตนี้ก็แกว่งของมันไปอย่างนี้แหละ และสองขั้วนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรื่องผิดถูก ชั่วดี ควรไม่ควร ...

คาร์ลยุงให้แง่คิดในการมองเรื่อง"บาปและความชั่วร้าย"แตกต่างไปจากความเชื่อทางศาสนา เขามองว่าจิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์ คือการเผยออกอย่างสมดุลของทั้งจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก .....

(เรื่องนี้อธิบายต่อได้ว่า ทำไมดร.สโตนจึงสานต่อเป็นวิชาว๊อยซ์ไดอะล็อก ที่ให้กลับมาตระหนักถึงความสมดุลของตัวตนสองด้าน..  Voice Dailogue : The Psychology of Selves )





.................................................

ตามไปคุยกันต่อได้ที่เพจนี้นะ
ถอดรหัสภาพ ไพ่ บทกวี และความฝัน : Decoding Symbols in Arts, Dream and Tarot


Sunday, May 29, 2011

"Siddhartha" film[1972]

a novel by Hermann Hesse



















When someone is seeking,” said Siddartha,
“It happens quite easily that he only sees the thing that he is seeking;
that he is unable to find anything,
unable to absorb anything,
because he is only thinking of the thing he is seeking,
because he has a goal,
because he is obsessed with his goal.
Seeking means: to have a goal;
but finding means: to be free, to be receptive, to have no goal.
You, O worthy one, are perhaps indeed a seeker,
for in striving towards your goal,
you do not see many things that are under your nose."


— Hermann Hesse


[thanks for uploading the film onto YouTube]

Thursday, May 26, 2011

บทฝันจากยุคกลาง : Medieval Dream

27.5.2011

เกิดเหตุพ้องพานขึ้นอย่างไม่บังเอิญทุกวันในชีิวิต

เมื่อเช้าอ่านตัวอย่างความฝันในบทเรียนบทหนึ่งของอาจารย์ปู่คาร์ลยุง

ใจไปสะดุดกับชื่อ Leipzig ซึ่งเป็นชื่อเมืองๆหนึ่งในเยอรมัน

พอตอนเย็นเพื่อนในกลุ่มดนตรียุโรปแบ่งปันวีดีโอนี้เข้ามา

ทำให้ได้รู้จักกับกวียุคกลาง
ซึ่งชื่อของเขาเกี่ยวข้องกับชื่อเมืองที่เราอ่านเมื่อเช้า
แม้จะไม่ใช่ความเกี่ยวข้องที่สำหลักสำคัญอะไร
แต่นั่นก็เป็นด้ายเส้นเล็กๆซึ่งโยงให้เรามาสนใจชื่ออีกสองชื่อของสองยุคสมัย
ชื่อหนึ่งเป็นกวียุคกลาง
Heinrich von Morungen
อีกชื่อเป็นกลุ่มนักดนตรีชื่อวง Qntal
พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นนักดนตรีแนว Electro-Medieval

แถมฉากเริ่มในภาพเพลงชุดนี้ก็ช่างประจวบเหมาะกับที่เราเพิ่งพูดถึงชื่อแม่นางในภาพกับน้องซึ่งเป็นนักอ่านไพ่ทาโรต์เมื่อเช้านี้พอดี

ตอนนี้เลยมีประเด็นที่ร้อยพันกันอยู่สามสี่เรื่อง
บทกวี ดนตรี Mythopoetry และ Symbolism เอาเรื่องไหนก่อนดี

อืม.. ฟังเพลงและดูภาพก่อนแล้วกัน


เพลงนี้ร้องจากบทกวีร้องบทหนึ่งของ Heinrich of Morungen
ซึ่งเป็นกวียุคกลาง ช่วงชีวิตของเขาอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1155-1222 นักร้องวงควันไทล์ Qntal เป็นหนึ่งในวงโปรดของเรา
เมื่อฟังเพลงทุกครั้งก็อยากรู้ว่าบทเพลงเขาต้องการจะสื่ออะไร
พยายามค้นดูว่าจะมีใครสักคนแปลบทกวีบทนี้เป็นภาษาอังกฤษไหม

ในที่สุดก็พบว่ามีนักแต่งเพลงชื่อ
Henrik W. Gade ได้แปลไว้
(ต้นฉบับตาม Link นี้ เขาเปิดให้เราเข้าไปแก้ไขการแปลได้ด้วย
อืม..ก็ไม่แน่ใจว่าอ่านบทแปลจะได้อารมณ์เหมือนต้นฉบับของกวีหรือเปล่า

แต่อย่างน้อยก็เป็นสะพานไม้เล็กๆทอดให้เราเดินเข้าไปในตำนานละนะ)


Von den elben (By the Elves)

I.
By the elves many a man was enchanted,

So was I enchanted by strong love

By the best woman a man has ever befriended.

But will she for that reason hate me,

And stand up against me,

Willing to take her revenge on me
In doing what I ask of her;
then she will make me so happy,

That my life will perish with joy.


II.
She rules and is in the heart of mine,

Lady and mightier than I am myself,
Hey, if I ever could have that much power over her

That she stayed faithfully by my side

For three whole days

And some nights

Then I would not loose the life and all the power,
Yes, she is unfortunately much too independent of me.


III.
I am inflamed by the light of her eyes so bright,

As the fire does to the dry tinder,

And her treating me like a stranger offends the heart of mine,

Like the water the glowing embers,

And her high spirit
And her beauty and her dignity
And the wonders, they tell of her good deeds
That is bad luck to me - or maybe good.

IV.
When her bright eyes turn to me in a way

That all through my heart she sees,
Who would dare go in between and trouble me,

He must have all the joy of his totally destroyed,
I must stand in front of her,
And await my delight,
Just as the little bird (awaits) the light of dawn.
When will I ever achieve such happiness?
อ่านสำนวนแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้แล้ว
ยังรู้สึกกระท่อนกระแท่นในอารมณ์
ราวกับว่ายังเข้าไปไม่ถึงห้องส่วนตัวของผู้ประพันธ์
ถ้าอย่างนั้น ลองร้องตามนักร้องดีกว่า
ด้วยภาษาที่เราไม่คุ้นเคย
เผื่อว่าเสียงในอากาศจะนำพาเราให้ข้ามห้วงเวลาและความคิด

Von den elben

1

Von den elben wirt entsehen vil manic man,
sô bin ich von grôzer liebe entsên
von der besten, die ie dehein man ze vriunt gewan.
wil aber sî der umbe mich vên
Und ze unstaten stên,
mac si danne rechen sich
und tuo, des ich si bite. sô vreut si sô sêre mich,
daz mîn lîp vor wunnen muoz zergên.
2
Sî gebiutet und ist in dem herzen mîn
vrowe und hêrer, danne ich selbe sî.
hei wan muoste ich ir alsô gewaltic sîn,
daz si mir mit triuwen waere bî
Ganzer tage drî
unde eteslîche naht!
sô verlür ich niht den lîp und al die maht.
jâ ist si leider vor mir alze vrî.
3
Mich enzündet ir vil liehter ougen schîn,
same daz viur den durren zunder tuot,
und ir vremeden krenket mir daz herze mîn
same daz wazzer die vil heize gluot.
Und ir hôher muot
und ir schoene und ir werdecheit
und daz wunder, daz man von ir tugenden seit,
daz wirt mir vil übel -- oder lîhte guot?
4
Swenne ir liehten ougen sô verkêrent sich,
daz si mir aldur mîn herze sên,
swer dâ enzwischen danne gêt und irret mich,
dem muoze al sîn wunne gar zergên!
Ich muoz vor ir stên
unde warten der vröiden mîn
rehte alsô des tages diu kleinen vogellîn.
wenne sol mir iemer liep geschên?

ขอขอบคุณศิลปินและครูอาจารย์ทั้งหลาย
ผู้ซึ่งกาลเวลาไม่สามารถพรากพวกท่านไปจากความงาม

ขอคารวะด้วยลมหายใจ
ครูแม่ส้ม  



Tuesday, May 24, 2011

ดูภาพเคลื่อนไหวของจิตที่เผยออก แต่ถูกเรียกกลับ

วันนี้ครูแม่ส้มมาชวนดู Animation นิทานพื้นบ้านของรัสเซียเรื่องหนึ่ง เค้าโครงเรื่องเป็นศิลปะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolism) ซึ่งสามารถดูได้ทั้งแบบไม่ถอดรหัส คือดูไปตามท้องเรื่องตรงๆ หรือจะดูแบบถอดรหัสสัญลักษณ์ในเชิงจิตวิทยา(Jungian psychology)ก็ได้ เช่น ฉากเด็กสาวเอาเท้าแช่ลงไปในน้ำก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เสื้อผ้าของเด็กสาวหายไปก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เป็นต้น อะนิเมชั่นเรื่องนี้มีระบบสัญลักษณ์แทรกอยู่ตลอดเรื่อง

ในตอนท้ายที่ดูเหมือนว่าตัวละครตัวแม่และตัวยายจะดูโหดร้ายและรุนแรง แต่ความรุนแรงทั้งหมดนั้นก็เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ ตั้งแต่การฆ่าตัดหัวมังกร หัวและเลือดมังกรจมลงไปในน้ำ การที่หญิงสาวยกลูกชายคนเล็กขึ้นทุ่ม หัวลูกโหม่งกับพื้นแล้วลูกกลายเป็นกุ้งมังกรคืบคลานกลับลงไปใต้ทะเลลึก หรือการโยนลูกสาวขึ้นท้องฟ้าแล้วลูกกลายเป็นนกบินหนีไป จนถึงฉากที่ตัวหญิงสาวเองกลับไปสระผมที่หนองน้ำ แล้วกลายร่างเป็นนกสีดำบินไปรวมฝูงกับนกอื่นๆ(ที่มีชะตากรรมเดียวกัน) ทุกฉากทุกตอนสามารถอ่านเป็นสัญลักษณ์ได้หมด แม้แต่ฉากจบของเรื่องก็คือฉากตอนเริ่มเรื่อง เป็นสัญลักษณ์วงจรฉายซ้ำของแบบแผนพฤติกรรมในระดับจิตไร้สำนึก (archetypal repetitions)

การถอดรหัสสัญลักษณ์นั้น คาร์ล ยุง ซึ่งเปรียบเสมือนอาจารย์ปู่ของจิตวิทยาสายนี้ บอกว่าไม่มีรหัสใดรหัสหนึ่งที่ถูกต้องที่สุด คนแต่ละคนมีมุมมอง มุมคิด มุมรู้สึก และมุมสัมผัสต่อสัญลักษณ์แต่ละสัญลักษณ์แตกต่างกัน หรือถ้าคล้ายกันก็มีระดับความเข้มข้นในแต่ละจุดต่างกัน ดังนั้นการแปลสัญลักษณ์ในเชิงบำบัด นักถอดรหัสสัญลักษณ์ทำหน้าที่เป็นเพียงพจนานุกรม แต่ผู้อ่านและผู้ที่ต้องทำความเข้าใจ คือตัวปัจเจกบุคคลเอง

เอาละ มาดูหนังกันดีกว่าค่ะ หนังจบแล้วค่อยตั้งวงแชร์รหัสกัน
.. ข้าวโพดคั่ว พร้อม!


ตอนที่ 1

https://www.youtube.com/embed/jdEyqvBW9fI?fs=1%22%20width=%22425%22


ตอนที่ 2

http://www.youtube.com/embed/IL2oiIPI1sE?fs=1" width="425

Sunday, May 22, 2011

ฟังบรรยาย "ปัญญาแห่งความฝัน"

Dr. Pierre Grimes' reflections that the life of man is indeed rational,
and that the structure behind dreams, fantasies, and apparently random
thoughts is intelligible


The Wisdom of Dreams
1/10


2/10


3/10


4/10


5/10


6/10


7/10


8/10


9/10


10/10


Monday, May 16, 2011

โอ้ แม่กุหลาบโรย



ค่ำคืนพายุหอน
เจ้าหนอนล่องหน
กระดึบไปในความมืด

ข้าเว้าวอน
เตียงร้อนเร่า
ปรารถนาลับ
ฤากลีบเจ้าร่วง

โอ้ แม่กุหลาบโรย

...............................

The Sick Rose by William Blake
ครูแม่ส้ม - สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปล

5.16.11

Sunday, April 24, 2011

ความฝันไม่เคยหลับ เพียงแค่จิตสำนึกไม่เปิดโอกาสให้เราได้ยิน


ภาพพิมพ์เอทชิ่งของ Francesco Goya ศิลปินชาวสเปน
ชื่อภาพ "The dream of reason produces monsters" ค.ศ. 1799


คาร์ล ยุง มองความฝันต่างไปจากซิกมุนด์ ฟอรยด์ ตรงที่คาร์ลยุงไม่ได้มองว่าความฝันเป็นเรื่องของจิตปัจเจก (individual psyche) เท่านั้น แต่ความฝันมีสายใยที่มองไม่เห็นร้อยรัดพัลวันกันทั้งอนาคตกาล อดีตกาล และ ปัจจุบันกาลอย่างไม่เป็นเส้นตรงของจิตร่วมหรือจิตจักรวาล (collective psyche)


ที่ว่าไม่เป็นเส้นตรงคือคำว่า"กาล"และ"เทศะ"เป็นมิติอิสระ การรับรู้ระดับจิตสำนึก(conscious)ของเราจะรับรู้ได้ในเชิงเส้นตรงเท่านั้น แต่จิตไร้สำนึก(unconscious)รับรู้ความเป็นอิสระของ time และ space ได้อย่างที่มันเป็น


คาร์ล ยุง บรรยายในสัมนาเรื่องความฝันของวัยเยาว์ว่า "ความฝันเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าหากว่านักฟิสิกส์มองว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล คืออธิบายด้วยกฏแห่งเหตุและปัจจัยได้ ความฝันก็เช่นกัน ความฝันเป็นเหตุและปัจจัยของจิต เพียงแต่ว่าขอบแดนของจิตไร้สำนึกนั้นกว่้างใหญ่ไพศาลมาก จึงค่อนข้างจะพ้นวิสัยในการหาข้อสรุปให้ความคิดระดับจิตสำนึก(เชิงเหตุผล)เข้าใจ"


อย่างไรก็ตามจิตไร้สำนึกเป็นจิตซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และมันไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว แต่สาเหตุที่เราอ่านจิตไร้สำนึกไม่ออก ก็เพราะว่าในช่วงเวลาที่เราตื่นอยู่วันทั้งวัน จิตสำนึก(conscious)ของเรามันทำเสียงดังอึกทึกครึกโครมตลอดเวลา จนเราไม่สามารถได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก จนกว่าความง่วงจะคืบคลานเข้ามาในยามค่ำคืน จิตสำนึกจึงค่อยๆเงีบบเสียงลง เมื่อนั้นเสียงของจิตไร้สำนึกก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาในความฝัน


ครูแม่ส้ม
4. 24. 2011

ไพ่ทาโรต์ประจำคืนนี้ คือ The Temperance : ตัวเรานั้นเองคือเทพผู้ยืนอยู่ระหว่างพื้นดินและสายน้ำ เรายืนอยู่ระหว่างของแข็งและของเหลว เรายืนอยู่ระหว่างความร้อนและความเย็น เรายืนอยู่ระหว่างวัตถุธาตุและอากาศธาตุ ค่ำคืนนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้ตื่นขึ้นในความฝัน เพื่อสัมผัสถึงประสบการณ์ของจิตที่ไม่แบ่งแยก ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจความบรรสานสอดคล้องแห่งเอกภาวะ


.....

Saturday, April 23, 2011

ช่วงวัยกับความฝัน


(photo of Dream Art by Alastair Magnaldo)


บ่ายนี้ให้ต้องมาอ่านบท On the method of dream interpretation ในหนังสือเล่มหนาปึกชื่อ Children's Dream ที่รวบรวมเอาการบรรยายของศาสตราจารย์คาร์ล ยุง ในช่วงปี 1936-1940 ไว้ อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะอ่านเลย งานแปลและงานสอนก็มีหนังสือที่ต้องอ่านจนอ่านไม่ทันแล้ว แต่เมื่อเริ่มอ่านเล่มนี้ก็วางไม่ลง เลยต้องเลยตามเลย

ปู่ยุง(ใครอยากจะออกเสียงเรียกว่าจุงก็ไม่ว่ากัน)บอกว่าการศึกษาเรื่องความฝันของบุคคลนั้น ต้องย้อนไปทำงานกับความฝันในวัยเด็กด้วย มันอาจจะฟังดูยากที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆย้อนกลับไประลึกถึงความฝันครั้งแรกในชีวิต ใครจะไปจำได้ ! ยุงพูดว่า "ฉันได้ถามเพื่อน ถามนักเรียน และคนไข้ของฉันว่า ความฝันที่พวกเขาจดจำได้ว่าเป็นฝันแรกนั้นเป็นฝันตอนอายุเท่าไหร่ หลายคนตอบว่าพวกเขาจำความฝันตอน 4 ขวบได้ บางคนตอบว่า 3 ขวบด้วยซ้ำ"

ความฝันในวัยเยาว์นั้นมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะความฝันช่วงปฐมวัย เพราะความฝันในช่วงวัยนี้จะบ่งบอกบุคลิกภาพและตัวตนที่อยู่ในส่วนลึก และยังบอกถึงแนวโน้มชีวิตในวันข้างหน้าได้ด้วย แต่เมื่อพ้นช่วงปฐมวัย (7 ขวบแรก) เด็กจะเข้าสู่ช่วงไปโรงเรียน ความฝันในช่วงนี้ไม่ค่อยมีนัยยะเชิงลึกอะไร จนกระทั้งเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (ประมาณอายุ 13-20) ความฝันจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง และหลังจากนั้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความฝันก็ลดบทบาทลงอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งเราอายุ 35 ขึ้นไป ความฝันก็จะกลับมามีความหมายสำคัญกับชีวิตอีกรอบ

........

อ่านสนุกทุกหน้า ไว้จะค่อยๆมาย่อให้ฟัง

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

23 . 5 . 54 : The Sun ของเดือนหน้า (ยิ้มให้กับวันพรุ่ง เดือนพรุ่ง ที่อยู่ในลมหายใจของวันนี้เดี๋ยวนี้)

Tuesday, April 19, 2011

การเผยออกของตัวตนผ่านภาพสัญลักษณ์


(ภาพนี้เป็นภาพวาดของคาร์ล ยุง ชื่อ "The Serpent and the Tree")

การ ตีความภาพ (ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ตาเห็น ภาพในจินตนาการ หรือภาพในฝัน) การรับรู้ visual elements หรือ ทัศนธาตุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับการอ่านและตีความ จะถูกรับรู้ผ่านจิตไร้สำนึก 2 ส่วนควบคู่กันไป

- ส่วนที่มาจาก personal unconscious (จิตไร้สำนึกระดับบุคคล) เป็นการรับรู้ต่อสัญลักษณ์ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งจะตีความผ่านการรับรู้และความรู้สึกของคนอื่นได้ยาก เช่น ความรู้สึกต่อสีแดง สำหรับเรา(ปัจเจก)สามารถหมายถึงอารมณ์ได้ทุกสภาวะ เช่น เป็นความรู้สึกกลัวก็ได้ เศร้าก็ได้ ฮึกเหิมก็ได้ ดีใจก็ได้ แรงปรารถนาหรือความเกลียดชังก็ได้ (ตีความได้ไม่สิ้นสุด เพราะการรับรู้ในส่วนนี้เป็นด้าน personal archetype ซึ่งมีนับไม่ถ้วน)


- อีกส่วนหนึ่งมาจาก collective unconscious หรือ จิตไร้สำนึกสากลร่วมกันของมนุษยชาติ ในส่วนนี้เองที่ทัศนธาตุ(visual elements)ของภาพที่เข้ามาในสำนึกของเรา ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรง ทิศทาง จังหวะ ที่ว่าง พื้นผิว แสง และความเข้มข้น ฯลฯ จะสามารถอนุมานได้ว่าคนเราทุกๆคนมีชุดการรับรู้ความรู้สึกร่วมกัน ไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน ก็มีสำนึกต่อสิ่งนี้ใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงแสดงปรารถนา สีฟ้าแทนความคิด สีเขียวแทนผัสสะ และสีเหลืองเป็นสีแห่งญาณทัศนะ หรือเส้นนอนผ่อนคลาย เส้นตั้งมั่นคง เส้นเอียงเคลื่อนไหว เป็นต้น (ด้านนี้เป็น collective archetype)


ดังนั้นในการอ่านภาพ เราจึงใช้จิตไร้สำนึกทั้ง 2 ส่วนนี้ผสมกันตลอดเวลา นี่เองที่ทำให้ศาสตร์การทำนายฝัน และการพยากรณ์ด้วยภาพ ถูกใช้เป็นช่องทางเข้าไปอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นอวัจนะภาษาของจิตด้านที่เป็นจิตบอด หรือ blind area ซึ่งจิตสำนึกตามปกติประจำวันเข้าไปไม่ถึง หรืออ่านไม่ออก

 ....

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล) 
เรียบเรียงจากแนวคิดของยุงในเรื่อง ความฝัน และการเผยออกของตัวตนผ่านสัญลักษณ์

Monday, April 18, 2011

กรีดร้อง





ภาพนี้ชื่อว่า "กรีดร้อง" The Scream (1893) โดยศิลปิน Edvard Munch


ความเป็น Symbolism ในงานศิลปะ แสดงออกแบบเดียวกับภาพที่เกิดขึ้นในความฝัน ศิลปินไม่ได้สนใจเรื่องธาตุทางศิลปะหรือสุนทรียทักษะมากนัก แต่ปล่อยให้จิตใต้สำนึกเผยสัญลักษณ์ออกมาอย่างอิสระ ความงามของภาพแนวนี้ไม่ได้ตัดสินกันที่ทักษะทางฝีแปรง แต่คุณค่าอยู่ที่การเปิดเผยอย่างหมดเปลือกของตัวศิลปิน เป็นการเปลือยออกของจิตใต้สำนึกโดยที่เจ้าตัวพร้อมเสี่ยงที่จะถูกอ่าน ถูกเห็น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตำหนิ หรือถูกชื่นชม

ลัทธิทางศิลปะต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ภาพวาด ดนตรี บทกวี วรรณกรรม ล้วนเคลื่อนไปพร้อมๆกับการพลิกหน้าดินของสังคม โลกหมุนไปเป็นพลวัต สังคม การเมือง ศิลปะ มีการพลิกมีการกลับหน้าดินครั้งแล้วครั้งเล่า .. เหตุเกิดที่ถนนสีลมในวันสงกรานต์ ก็เป็นปรากฏการณ์พรวนดิน .. เป็นฝันที่เราต้องเปิดตาเปิดใจน้อมรับเขาเข้ามา เพราะเขาคือส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน

Wednesday, April 13, 2011

ในโลกฝัน ไม่ตัดสินขาว ไม่พิพากษาดำ



จิตสำนึกถูกสอนมายาวนาน นานก่อนเราเกิดแล้ว ว่าในโลกใบนี้ มีด้านสว่างและด้านมืดอยู่คู่กัน มีความดีตรงข้ามกับความชั่ว การจะอยู่รอดต้องตัดสินใจเลือกฝ่ายหนึ่งไว้ และสลัดละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไป

แต่เพราะสิ่งคู่ก็คือสิ่งคู่ เราเลือกมองหน้าเดียวของเหรียญได้ เลือกเชื่อว่าเหรียญมีเพียงด้านเดียวได้ แต่ใช่ว่าความเชื่อของเราจะทำให้เหรียญอีกหน้าหนึ่งหายไปจริงๆ

อีกด้านของเหรียญที่เราเลือกที่จะไม่มอง กลัวที่พลิกมันขึ้นมา หรือกระทั่งลืมไปแล้วว่าธรรมชาติของเหรียญคือมีสองด้าน ก็จะมาผลุบโผล่ให้เคืองใจในความฝัน โผล่มาเป็นถ้อยคำเป็นสุ้มเสียงที่เราต้องอุดหู โผล่มาเป็นภาพเป็นฉากที่เราต้องวิ่งหนีและซุกซ่อน

ฝันเหนื่อย ฝันร้าย ฝันใจหาย ... คือสัญญะที่มาสะกิดว่า ช่วยพลิกเหรียญอีกด้านขึ้นมาพิจารณาอย่างกล้าหาญเถิด

.........

(เรื่องและภาพประกอบถ่ายโดย ครูแม่ส้ม)