....
เมื่อใดก็ตามที่เราใช้อารมณ์ด้านลบโต้ตอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต เมื่อนั้น “รอยอกุศลกรรม” ได้ถูกประทับไว้แล้วทันทีในจิตของเรา และรอยอกุศลกรรมนี้ เป็นพลังที่มีอิทธิพล ทำให้ชีวิตของเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ด้านลบอีกต่อ ๆ ไปอย่างไม่รู้จบ
ดังตัวอย่างเช่น เมื่อมีใครสักคนแสดงโทสะใส่เรา และเราโต้ตอบกลับด้วยโทสะเช่นเดียวกัน นั่นเท่ากับเราได้ทิ้งรอยกรรมแห่งโทสะจริตไว้ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายขึ้นเรื่อย ๆ โกรธบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยยั่วโทสะรอบตัวเรานั้นช่างมีมากมายเหลือเกิน และนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในทำนองกลับกัน ถ้าเราไม่โต้ตอบสถานการณ์ด้วยความโกรธ ก็จะไม่มีการประทับรอยโทสะไว้ในรอยกรรมของเรา ในสถานการณ์เดียวกันเช้นนี้ บุคคลที่ถูกประทับรอยกรรมด้วยอารมณ์โกรธ กับอีกคนที่ไม่ คนทั้ง ๒ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมไม่เหมือนกัน ทั้งผลภายนอก (หน้าที่การงาน ชีวิตทางสังคม) และผลภายใน (ความสงบสุขทางจิตใจ สุขภาพทางร่างกาย ตลอดจนความคิดและสติปัญญา)
ความกลัว ความวิตก ก็เป็นอีกตัวอย่างของอารมณ์ที่ทิ้งรอยกรรมด้านลบไว้ ความกลัวความวิตกกังวลทำให้คนตกอยู่ในภาวะเครียด ความเครียดเป็นพลังงานที่แผ่ซ่านออกไปรอบทิศทางชีวิตของบุคคลนั้น เราคงจะเห็นบ่อย ๆ ว่า คนที่โกรธง่าย วิตกกังวลง่าย และมีความกลัวอยู่ในใจ จะดึงดูดเอาผลแห่งรอยกรรมด้านลบหรือด้านร้ายเข้าสู่ชีวิตของเขาเอง จนดูประหนึ่งว่าชีวิตเขาจะพบแต่โชคร้ายอยู่เนือง ๆ
แต่แม้ว่าเราจะกดอารมณ์โกรธ กดความวิตกและความกลัวนั้นไว้ในใจเงียบ ๆ ไม่แสดงการโต้ตอบออกไป รอยกรรมแห่งอกุศลจิตก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพราะการเก็บกดไว้เป็นการสำแดงความไม่พึงพอใจแบบย้อนกลับ แม้ไม่แสดงออกมา แต่ก็ไม่ได้หมดไป ยังคงซ่อนอยู่หลังประตูที่เราคล้องกุญแจไว้ มันซ่อนอยู่ในความมืดอย่างรอคอย เหมือนศัตรูร้ายที่ซุ่มเงียบ รอให้ได้ที หรือได้ฤกษ์เมื่อไร ก็พร้อมที่จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ออกมาต่าง ๆ นานา
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเก็บกดความโกรธ หรืออิจฉาริษยาใครก็ตามไว้ในใจ เราจะรู้สึกได้ถึงความเดือดพล่านในอารมณ์ของเราเป็นระยะ แม้ว่าเราจะเก็บความริษยานั้นไว้เป็นความลับสุดยอด แต่ก็ไม่วายที่เราอาจจะเผลอนินทาว่าร้ายบุคคลนั้นไปอย่างไม่รู้ตัว หรือแม้ว่าเราจะปฏิเสธกับตัวเองว่าเราไม่ได้โกรธหรือริษยาใคร แต่เราก็หลอกจิตใจตัวเองไม่ได้ ตราบใดที่จิตของเรายังจับความรู้สึกโกรธ เกลียด กลัว อิจฉา หรืออาฆาตมาดร้ายที่เก็บกดไว้หลังประตูใจของเราได้ ตราบนั้นเมล็ดพันธุ์แห่งอกุศลกรรมได้ถูกหว่านไปในพื้นดินอันอุดมด้วยกิเลสเรียบร้อยแล้ว
......ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ร่องรอยแห่งอกุศลกรรมนั้นจะถูกประทับทันที ไม่ว่าเราจะสร้างอกุศลทางใดก็ตาม ทั้งทางการกระทำ ทางวาจา ทางความคิด และทางความรู้สึก
ดังนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้อุปนิสัยหรือจริตของเราขับเคลื่อนไปตามยถากรรม หรือเก็บกดความรู้สึกทางอกุศลไว้ในใจ เราสามารถเปลี่ยนรอยอกุศลกรรมได้ ด้วยการสื่อสารกับจิตวิญญาณภายในของเราให้ลดทอนอารมณ์ด้านลบต่าง ๆ การสื่อสารกับตัวเองเป็นการช่วยให้เราเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนรอยอุกศลกรรม ให้เป็น กุศลกรรมได้
เมื่อใครสักคนทำให้เราโกรธ จริตเดิมเราอาจจะเริ่มปรากฏโทสะขึ้น แต่ด้วยการสื่อสารและเชื่อมั่นในกุศลกรรม จะช่วยให้เราค่อย ๆ เปลี่ยนความโกรธนั้นเป็นความเมตตา ขณะเริ่มฝึกใหม่ ๆ เราอาจรู้สึกว่าการปรับเปลี่ยนนี้ช่างฝืนใจและเสแสร้งเสียเหลือเกิน มันช่างไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของเราเลย
แต่ลองคิดใคร่ครวญดูดี ๆ ซิว่า บุคคลที่โกรธเกลียดเราคนนั้น เขาจะต้องถูกผลักให้เข้าไปวนเวียนอยู่ในวังวนของความโกรธอันไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องด้วยกรรมของเขาเอง จิตใจของเขาจะต้องทนทุกข์กับหลุมพรางที่ตัวเองเป็นคนขุด ต้องติดอยู่ในกับดักที่ตัวเองเป็นคนสร้าง ว่ายเวียนอยู่ในรอยอกุศลกรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เมื่อเราพิจารณาอย่างเข้าใจได้เช่นนี้ ความรู้สึกเมตตาก็จะผุดขึ้นในใจเรา เราจะเริ่มมีสติที่จะไม่กระทำการตอบโต้ด้วยจริตเดิม เพราะเราไม่อยากเข้าไปว่ายวนในทะเลทุกข์เหมือนเขา นั่นเท่ากับเราได้เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงรอยกรรมใหม่ในอนาคตของเราแล้ว ด้วยการกระทำในวันนี้ของเราเอง ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้
ผลแห่งกรรมในทางกุศลนี้ ต้องเป็นไปตามความปรารถนาที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของเราให้เติบโตอย่างอบอวลไปด้วยความสงบสันติ ความปรารถนานี้ทำให้เราศรัทธาเชื่อมั่น เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาลงไปในใจอย่างไม่รู้ตัว
คราวต่อ ๆ ไป เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เคยสร้างความโกรธเคืองให้เราอีก เมล็ดพันธุ์แห่งเมตตาธรรม จะแตกหน่อออกผลอย่างเป็นธรรมชาติในใจเรา เราจะเกิดความเมตตาขึ้นอย่างไม่ต้องฝืน อย่างเป็นธรรมดา อย่างสบาย ๆ จิตไร้สำนึกของเราไม่จำเป็นต้องสร้างกลไกการปกป้องตัวเองด้วยการโต้ตอบด้วยวิธีรุนแรงอีกต่อไป
กุศลกรรมเป็นกรรมที่สะสมทับทวีคูณ เมื่อเริ่มต้นฝึกปรับเปลี่ยนรอยกรรมใหม่ ๆ เราจะรู้สึกว่าต้องอดทน อดกลั้น ต้องฝืนใจอย่างมาก แต่เมื่อรอยกรรมที่เป็นกุศลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ผลแห่งกรรมนั้นเองที่ช่วยให้ความโกรธของเราลดลงไปทีละนิด ๆ อย่างไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม ทั้งทางกาย ทางใจ และทางปัญญา
อาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม เราสามารถพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วยการฝึกใส่ใจทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในยามตื่น ในระหว่างภาวนา และในความฝัน
............
(แปลจากบางตอนของหนังสือ The Tibetan Yogas of Dream and Sleep
เขียนโดย เท็นซิน วังจัล รินโปเช)ครูส้ม : สมพร อมรรัตนเสรีกุล แปลรูปประกอบวาดเมื่อ มีนาคม ๔๖
No comments:
Post a Comment