Sunday, March 20, 2005

รอยกรรมและความฝัน

........

"รอยกรรม และ ความฝัน"

อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด จินตนาการ ทรรศนะ การรับรู้ ตลอดจนสัญชาตญาณ หรือที่เรียกรวม ๆ กันว่า “จิตสำนึกและจิตไร้สำนึก” ปรากฏขึ้นจากรอยกรรมของปัจเจกบุคคล
ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง ด้วยความรู้สึกที่หดหู่เศร้าหมองอย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์ในเช้านี้ แทนที่จะสดชื่นแจ่มใสเหมือนเช้าวันอื่น ๆ กลับหนักอึ้งหม่นมัว แม้จะรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ความรู้สึกหดหู่ก็ยังไม่หายไปไหน

ที่แย่กว่านั้นคือ คิดอย่างไรก็หาต้นเหตุที่ทำให้อารมณ์หม่นหมองนั้นไม่พบ เพิ่งตื่นแท้ ๆ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบให้อารมณ์เสียสักอย่าง เรื่องราวขัดใจกับใครก็ไม่มี เหตุใดอารมณ์จึงไม่สดชื่นแต่เช้า ดูช่างไม่สมเหตุสมผลเสียจริง ๆ

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุผล อารมณ์หม่นหมองที่เกิดขึ้นในตอนเช้า เกิดจากความเหมาะเจาะสอดคล้องของเหตุปัจจัยแห่งกรรมที่เรามองไม่เห็น กรรมที่เป็นต้นตอของจิตหมองนี้มีเหตุปัจจัยมากมายเหลือคณานับ รวมทั้งเหตุปัจจัยที่ก่อรูปขึ้นในความฝันยามหลับด้วย แม้ว่าเธอจะตื่นมา แล้วพูดว่าเมื่อคืนไม่ได้ฝันอะไร หรือได้ลืมความฝันไปแล้ว แต่อารมณ์ความรู้สึกในฝันยังคงตกค้างอยู่ ซึ่งทำให้จิตใจเศร้าหมองอย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ

ในช่วงเวลากลางวันที่ร่างกายของเราตื่นอยู่ จิตจะทำงานคู่ขนานไปกับความคิดเชิงเหตุผลอยู่เสมอ แต่เมื่อร่างกายของเรานอนหลับและเข้าสู่ห้วงของความฝัน จิตขณะฝันของเรา เป็นจิตที่อิสระจากวิสัยเชิงเหตุผล เปรียบเทียบคล้ายกับการถ่ายภาพ วันหนึ่ง ๆ เราได้บันทึกภาพมากมายลงบนฟิล์ม ผ่านความคิด ผ่านประสบการณ์ ผ่านความจำ และผ่านความรู้สึก ภาพแต่ละภาพถูกบันทึกไปอย่างต่อเนื่อง ครั้นพอตกค่ำคืน ขณะที่ร่างกายของเรานอนหลับ กระบวนการล้างฟิล์มได้ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ภาพที่ล้างออกมา ปรากฏเป็นความฝันในแต่ละคืน ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงที่จิตบันทึกไว้ในชีวิตประจำวันขณะตื่น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากรอยกรรมในอดีต

ภาพหรือความฝันที่เกิดขึ้นในแต่ละคืนจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเฉพาะของรอยกรรมที่ปรากฏในช่วงนั้น ๆ บางคืนภาพที่เราเห็นในความฝันก็ช่างมีอานุภาพต่อจิตใจเราอย่างรุนแรง เปรียบเหมือนภาพที่ชัดเสียจนตื่นมาแล้วก็ยังจดจำได้ทุกรายละเอียด จำทุกอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ได้ แต่บางฝันก็ทิ้งไว้เพียงความจำที่เลือนลาง เหมือนภาพที่ลอยมาให้เห็นแล้วก็ผ่านไป ตื่นมาก็จำอะไรไม่ค่อยได้จิตของเราทำหน้าที่คล้ายหลอดไฟของเครื่องฉายภาพ ซึ่งให้ความสว่างแก่รอยกรรมที่ถูกกระตุ้นด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เมื่อหลอดภาพที่ถูกจุดให้สว่างขึ้น ประกอบเข้ากับรอยกรรมที่ถูกกระตุ้น จึงก่อให้เกิดภาพและประสบการณ์ที่เรียกว่า “ความฝัน”

ความจริงกระบวนการฉายแสงให้จอสว่างเพื่อที่เราจะได้เห็น “ภาพหรือประสบการณ์” เบื้องลึกของจิตอย่างแจ่มชัด ก็เกิดขึ้นในขณะที่เราตื่นด้วยเหมือนกัน แต่กระบวนการฉายภาพเบื้องลึกเช่นนี้ จะเห็นและเข้าใจได้ง่ายกว่าในความฝัน เพราะว่าในฝัน เราสามารถสังเกตทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่เป็นอิสระจากข้อจำกัดและเงื่อนไขเชิงเหตุผลอย่างที่เราเคยชินในช่วงเวลาตื่นอีกประการหนึ่ง

ในระหว่างวันของชีวิตยามตื่น เราไม่สามารถผนวกตัวเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ภายในได้สนิทเหมือนขณะฝัน เพราะความคิดที่ติดยึดว่าประสบการณ์ขณะตื่นเป็น “ของจริง” ทำให้คนทั่วไปมักตัดสินว่า “โลกภายนอก” คือโลกแห่งความเป็นจริง และนี่เป็นข้อจำกัดของความคิดเชิงเหตุผลแบบทวิภาวะ ที่แบ่งแยกโลกภายนอกออกจากโลกภายใน และแบ่งแยกโลกของจริงออกจากโลกฝัน

ในทางสุบินโยคะ ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนจิต เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประสบการณ์ทุกมิติทั้งยามตื่น และยามหลับฝัน และเพื่อให้สามารถเชื่อมโลกภายนอกเข้ากับโลกภายใน เชื่อมประสบการณ์ภายนอกเข้ากับประสบการณ์ภายใน เมื่อจิตมีความเป็นหนึ่งเดียว จิตจึงจะว่องไวต่อความตระหนักรู้ ทั้งในชีวิตยามตื่นและชีวิตยามหลับ จิตที่ว่องไวและตระหนักรู้ มีผลต่อการกำหนด “กรรม” และ “รอยกรรม” ชุดใหม่

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รอยกรรมที่เก็บซ่อนอยู่ในอาลัยวิญญาณ จะปรากฏออกมาเมื่อเกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันของเหตุปัจจัยทั้งหลาย และการปรากฏของรอยกรรมก็มิได้ปรากฏเฉพาะในชีวิตยามตื่นเท่านั้น แต่จะไปปรากฏในชีวิตยามหลับด้วย

การฝึกจิตเพื่อปรับปรุงตัวเองสู่กุศลกรรม เราอาจจะได้กระทำอยู่บ้างแล้วในช่วงชีวิตยามตื่น สำหรับการฝึกในด้านความฝันอาจเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกันนัก แต่กุศลกรรมจากการฝึกปฏิบัติแต่ละครั้ง ก็จะเป็นแรงหนุนให้เกิดรอยกรรมใหม่ซึ่งช่วยนำให้การฝึกครั้งต่อ ๆ ไปง่ายยิ่งขึ้น สามารถนำจิตวิญญาณเข้าสู่กระบวนการฝึกชั้นสูงขึ้นได้เอง

การฝึกเช่นนี้ไม่ใช่การใช้กำลังของจิตสำนึกไปบีบคั้นบังคับเพื่อเปลี่ยนจิตไร้สำนึกแต่อย่างใด แต่การฝึกฝันตามแบบโยคะทิเบต เป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาจิตวิญญาณ โดยอาศัยความเข้าใจตามหลักของ “กฏแห่งกรรม”ด้วยจิตที่มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา (ทั้งยามตื่นและในฝัน) เราจึงจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ที่สะสมอยู่ในอาลัยวิญญาณ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (วิชชา) เมื่ออาลัยวิญญาณไม่ถูกต่อยอดด้วยอวิชชา จิตที่คลุมเครือก็จะค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้น เป็นจิตที่สว่างไสวเมื่อจิตสว่างบริสุทธิ์ รอยกรรมซึ่งเป็นรากของความฝันก็จะไม่ปรากฏ กระบวนการล้างฟิล์มในขณะหลับก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อนั้นจึงจะไม่มีทั้งเรื่องราวในฝัน ไม่มีผู้ฝัน และไม่มีความฝัน คงมีแต่ภาวะแห่งความรู้แจ้ง นี่เป็นเหตุที่เราเรียกภาวะของการสิ้นสุดความฝันว่า “การตื่นรู้” (การตื่นอย่างแท้จริง)
........

ครูแม่ส้ม   

No comments: