ครูแม่ส้ม : แปลและเรียบเรียง
จาก The Tebetan Yogas of Dream and Sleep
เขียนโดย Tenzin Wangyal Rinpoche
....
๑ . ความฝัน และ ความจริง
เราทุกคนล้วนฝัน ไม่ว่าเราจะจำความฝันนั้นได้หรือไม่ก็ตาม เราฝันตั้งแต่แบเบาะจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ทุก ๆ คืนเราล่วงเข้าสู่โลกที่ไม่มีใครรู้จัก ในความฝันบางครั้งเราก็เป็นตัวเราเอง แต่บางครั้งเราก็กลายเป็นใครก็ไม่รู้ที่เราเองก็ไม่รู้จัก
ในความฝันเราได้เจอกับผู้คนมากมาย บางคนเป็นคนคุ้นเคย แต่บางคนก็เป็นคนแปลกหน้า และเราก็ยังได้พบกับคนที่ทั้งมีชีวิตอยู่และบางคนก็ตายไปแล้ว โลกในความฝัน เราเหาะเหินเดินอากาศได้ เรากลายเป็นอะไรก็ได้ที่มากกว่าการเป็นมนุษย์ธรรมดา เราพบประสบการณ์แห่งสุขและทุกข์ เราหัวเราะ เราร้องไห้ เราหวาดผวา เรากลัวสุดขีด เราปิติยินดี หรือไม่เราก็เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ในขณะฝัน
แม้ว่าความฝันจะเป็นประสบการณ์น่าพิศวงขนาดนี้แล้ว แต่พวกเราก็ใส่ใจความอัศจรรย์นี้น้อยมาก ชาวตะวันตกศึกษาความฝันกันในเชิงทฤษฎีทางจิตวิทยา สืบต่อมาภายหลัง นักจิตวิทยาเริ่มให้ความสนใจที่จะใช้ความฝันค้นหาชีวิตในภาคของจิตวิญญาณ แต่พวกเขาก็ยังเพียงพุ่งเป้าไปที่เนื้อหาและความหมายของความฝันเท่านั้น น้อยนักที่จะเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของความฝัน ทั้งที่การเข้าถึงธรรมชาติของความฝัน จะหนุนนำเราให้เข้าสู่กระบวนการลี้ลับของชีวิต ทั้งในชีวิตยามตื่น ชีวิตยามหลับ และชีวิตหลังความตาย
ขั้นตอนแรกของการ “ฝึกฝัน” นั้นค่อนข้างเรียบง่าย เราจำต้องรู้จักศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของความฝันซึ่งนำดวงวิญญาณของเราออกไปท่องเที่ยวขณะที่เราเข้าสู่ห้วงชีวิตหลับ แต่โดยทั่วไปความฝันมักไม่ถูกยอมรับว่าเป็น “เรื่องจริง” ไม่เหมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตยามตื่น ที่คนทั่วไปเชื่อว่าเป็น “เรื่องจริง” ยิ่งกว่า
ในทางสุบินโยคะ (Dream Yoga) ของธิเบต เชื่อว่าไม่มีอะไร “จริง” ไปกว่าความฝัน และในทำนองเดียวกัน ก็ไม่มีอะไร “จริง” เท่ากับชีวิตตื่น ดังนั้นทั้งชีวิตตื่นและชีวิตหลับ จึง “จริง” และ “ไม่จริง” เสมอกัน สุบินโยคะ สอนให้ใส่ใจในประสบการณ์ของความ “จริง” และ “ไม่จริง” ทั้ง 2 ภาค ทั้งฝันกลางวันขณะตื่น และฝันกลางคืนยามนิทรา
..........
ครูแม่ส้ม : แปลและเรียบเรียง
จาก The Tebetan Yogas of Dream and Sleep
เขียนโดย Tenzin Wangyal Rinpoche
No comments:
Post a Comment