.........
วันนี้มาต่อเรื่อง "ช่องทางเดินของปราณ"
คำว่า ปราณ อาจจะได้ยินกันในหลาย ๆ ชื่อ เช่น พลังชีวิต ลมแห่งชีวิต ชี่หรือขี่(จีน) , กิ(ญี่ปุ่น) , ปราณ(อินเดีย)
ช่องทางหรือช่องผ่านของปราณ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "นาทิ" (Nadi) แปลว่า ช่องทางการเลื่อนไหล ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต เรียกว่า "นาฬี หรือ นาลี" แปลว่า ท่อหรือช่องนาฬีคือช่องทางเดินของปราณ
ในร่างกายคนเรามีนาฬีมากมาย ตำราโบราณของจีนและอินเดียบอกว่ามีมากกว่าเจ็ดหมื่นเส้น เรารู้จักนาฬีชนิดหยาบผ่านความรู้ทางการแพทย์และวิชากายวิภาค จากการศึกษาเรื่องระบบของเส้นเลือด ระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบน้ำเหลือง ระบบเส้นประสาท รวมทั้งเส้นและจุดในวิชาการฝังเข็มด้วย
ช่องทางเดินของปราณที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นนาฬีของกายหยาบ แต่ในสุบินโยคะ จะพิจารณาไปถึงนาฬีของกายละเอียด กายละเอียดนี้เป็นมูลฐานของทั้งปัญญาญาณและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง นาฬีละเอียดไม่สามารถบ่งชี้ตำแหน่งที่แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหนในร่างกาย แต่เราสามารถตระหนักรู้และสัมผัสได้เมื่อได้รับการฝึก
นาฬีละเอียดมีท่อทางเดินที่เป็นนาฬีหลักอยู่ ๓ เส้นเรียงกัน โดยมีจักร ๖ จักรวางอยู่ในตำแหน่งที่เรียงลำดับกันทางตั้ง ๖ จุด และจากจักรทั้ง ๖ มีนาฬีเส้นสายย่อย ๆ อีก ๓๖๐ เส้นแผ่กระจายไปทั่วร่างกาย (ตำราทิเบตเล่มนี้จะพูดถึงจักรเพียง ๖ จักร แต่ในตำราโยคะสายอื่น ๆ จะพูดถึงจักร ๗ จักร ๙ และจักรย่อยอีกมากมายไว้ด้วย)
เส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ ของหญิง เส้นทางขวามีสีแดง เส้นทางซ้ายมีสีขาว และเส้นตรงกลางมีสีน้ำเงิน
ส่วนนาฬีของผู้ชาย เส้นทางขวาสีขาว เส้นทางซ้ายสีแดง และเส้นตรงกลางมีน้ำเงินเช่นกัน
จุดบรรจบของเส้นนาฬีหลักทั้ง ๓ เริ่มต้นจากตำแหน่งที่ต่ำลงไปใต้สะดือประมาณ ๔ นิ้ว เส้นนาฬีซ้ายและขวามีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดด้ามดินสอ ตั้งคู่ขนานและขนาบอยู่ด้านหน้าของแนวกระดูกสันหลังขึ้นไปจนถึงสมอง วนกลับภายในกระโหลก ณ จุดกลางกระหม่อม แล้วย้อนลงมาเชื่อมกับโพรงจมูก
รูจมูกทั้ง ๒ ข้างจึงเป็นประตูเปิดของนาฬีหลักเส้นซ้ายและขวาส่วนนาฬีหลักเส้นตรงกลาง อยู่ด้านหน้ากระดูกสันหลัง ตั้งตรงขึ้นตามแนวกระดูกสันหลังเริ่มจากจุดใต้สะดือลงไป ๔ นิ้วเช่นกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดประมาณลำอ้อย เส้นผ่าศูนย์กลางนี้จะขยายกว้างขึ้นเล็กน้อยจากบริเวณหัวใจไปถึงจุดบรรจบที่กลางกระหม่อมบนศรีษะ
เส้นนาฬีสีขาว (ด้านขวาของชาย ด้านซ้ายของหญิง) เป็นช่องทางการเคลื่อนไหวของปราณหรือพลังงานด้านลบ และความคิดติดกรอบ
ส่วนเส้นนาฬีสีแดง (ด้านซ้ายของชาย และด้านขวาของหญิง) เป็นช่องทางเดินของพลังงานด้านบวกและปัญญา
ดังนั้น ในการฝึกฝันแบบสุบินโยคะ ผู้ชายจะนอนตะแคงตัวขวา ส่วนผู้หญิงนอนตะแคงซ้าย เพื่อผลในการกดทับและปิดเส้นนาฬีสีขาว และเปิดเส้นนาฬีสีแดงซึ่งเป็นช่องทางของปัญญาและอารมณ์ทางบวก ท่านอนนี้จะช่วยให้ประสบการณ์ในความฝันเป็นไปทางบวกและกระจ่างชัด(การฝันแบบฝันกระจ่าง หมายถึงคุณภาพของฝันที่เรารู้ตัวในฝันว่าเรากำลังฝันอยู่ ภาพและเสียงตลอดจนประสาทรับรู้จะแจ่มชัด เมื่อตื่นแล้วก็ยังจดจำความฝันนั้นได้ เรียกว่า ฝันกระจ่าง หรือ Lucid Dreaming)
ส่วนเส้นนาฬีสีน้ำเงินที่อยู่ตรงกลาง เป็นนาฬีที่อยู่เหนืออารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบ เป็นทางเดินของพลังแห่งความตระหนักรู้แจ้ง
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการฝึกสุบินโยคะ คือการชักนำจิตสำนึกและปราณมาประสานรวมกันภายในนาฬีสีน้ำเงินเส้นตรงกลางนี้ ณ ที่ซึ่งไปพ้นทั้งความรู้สึกทางบวกและความรู้สึกทางลบ ไปพ้นเวทนาทั้งปวงเมื่อภาวะนี้เกิดขึ้น ผู้ฝึกจะตระหนักรู้ผ่านประสบการณ์ภายในว่าอารมณ์ความรู้สึกเชิงทวิภาวะทั้งหลาย ได้หลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นความว่าง และความกระจ่างสว่างรู้
.....
ครูแม่ส้ม
No comments:
Post a Comment