Sunday, March 20, 2005

๒.ประสบการณ์เกิดได้อย่างไร

........

"ความไม่รู้ "

ประสบการณ์เกือบทั้งหมดในชีวิตเรา รวมทั้งประสบการณ์ในความฝันด้วย เกิดขึ้นจากความไม่รู้ที่บริสุทธิ์ การพูดเช่นนี้ค่อนข้างจะกระทบหลักการของชาวตะวันตกนิดหน่อย แต่ก่อนอื่น ขอให้เรามาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า “ความไม่รู้“ (ma-rigpa*)

ธรรมเนียมอย่างทิเบต จำแนกความไม่รู้ออกเป็น ๒ พวก คือ ความไม่รู้แต่กำเนิด และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ก. ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

ความไม่รู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คือรากฐานของวังวนแห่งสุขทุกข์ (วัฏสงสาร) ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน เป็นความไม่รู้ถึงธรรมชาติเดิมแท้ของตัวเอง ไปจนถึงความไม่รู้ในธรรมชาติเดิมแท้ของโลกและจักรวาล นี่เองเป็นเหตุที่จูงมนุษย์เข้าไปพัวพันกับมายาการแห่งจิตที่เต็มไปด้วยทวิภาวะ ทวิภาวะลวงเราให้ตกอยู่ในรูปธรรมแห่งความเป็นขั้ว ๒ ด้านตรงข้ามกัน จำกัดประสบการณ์ของเราให้จำแนกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น ๒ ไม่ขาวก็ดำ ไม่ถูกก็ผิด มีฉันและมีเธอ

และด้วยความไม่รู้ที่นำเรามายึดติดกับการแบ่งแยกเช่นนี้ ได้พาเราพัฒนาไปสู่ความเคยชินต่อการตัดสินสิ่งต่าง ๆ พอชอบก็รัก ครั้นไม่ชอบก็ชังที่สุดก็นำเราไปสู่การตัดสินตัวเอง ฉันเป็นคนอย่างนั้น ฉันเป็นคนอย่างนี้ ฉันต้องการอย่างนี้ ฉันไม่ต้องการอย่างนั้น ฉันชอบที่จะอยู่ที่นั่นมากกว่าที่นี่ สิ่งนี้ฉันชอบ ฉันนับถือ แต่ถ้าสิ่งที่ตรงข้ามและต่างออกไปก็คือสิ่งที่ฉันรังเกียจ

เราแสวงหาความพึงพอใจ ความสุขสบาย ความร่ำรวย สุขอนามัยที่ดี และยศฐาบรรดาศักดิ์ เราล้วนต้องการสิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเราเองและบุคคลที่เรารัก และแล้วเราก็ละเลยมนุษย์คนอื่น ๆ เราหิวกระหายประสบการณ์แปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากที่เราเคยผ่านพบมาแล้ว เราไขว่คว้าประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกันเรากลับพยายามสุดชีวิตที่จะหลีกหนีไปให้พ้นจากประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ล้วนคือ “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” ที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด

ข. ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม

ความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อความปรารถนาโคจรมาพบกับความรังเกียจเดียจฉันท์ ก่อร่างขึ้นเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ประมวลผลด้วยระบบคุณค่าของสังคมนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ชาวฮินดูเชื่อว่าการกินเนื้อวัวนั้นบาป กินเนื่อสุกรดีกว่า ส่วนชาวมุสลิมกลับเชื่อว่าควรกินเนื้อวัว และห้ามกินเนื้อหมูเด็ดขาด ชาวทิเบตกินทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู

ทีนี้ใครผิดใครถูกกันเล่า ชาวฮินดูย่อมเชื่อว่าคนฮินดูนั้นถูก ชาวมุสลิมก็ต้องยืนยันว่ามุสลิมนั้นก็ถูก และชาวทิเบตก็ย่อมต้องเชื่อว่าตัวเองก็ถูกเช่นกัน ความเชื่อที่แตกต่างแปลกแยกเช่นนี้ เกิดขึ้นมาจากมายาคติทางวัฒนธรรม มิใช่เกิดจากรากฐานที่แท้จริงทางปัญญา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกอันหนึ่ง คือความขัดแย้งภายในของสำนักปรัชญาต่าง ๆ การก่อกำเนิดขึ้นของระบบปรัชญาหลายสำนัก เกิดขึ้นมาจากการพยายามตีความเพื่อหาข้อโต้แย้งและข้อผิดพลาดของสำนักปรัชญาอื่น แม้ว่าเป้าประสงค์ของตัวระบบปรัชญาเองจะมีเจตนาอยู่ที่การเติบโตทางสติปัญญาก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันระบบเช่นนี้ก็ได้ก่อร่างความไม่รู้แห่งการยึดมั่นถือมั่น และสร้างความจริงเชิงทวิภาวะขึ้น

ความเข้าใจสัจจะด้วยระบบคิดทางปรัชญาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะโดยตัวมันเองก็เป็นการสถาปนาความจริงแห่งความไม่รู้ขึ้นด้วยเช่นกันความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ได้ถูกพัฒนาและสงวนไว้อย่างเข้มแข็งผ่านจารีตประเพณี ได้แผ่ซ่านครอบคลุมไปในทุก ๆ วัตรแห่งชีวิต และในทุกโครงสร้างของการศึกษา ทั้งระดับบุคคล และระดับสังคม จนเป็นที่ยอมรับกันว่าความไม่รู้เช่นนี้คือสามัญสำนึกแห่งมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือกฏของพระผู้เป็นเจ้า

ในช่วงชีวิตของคนเรา ถูกผูกแนบเข้ากับหลักความเชื่อจากหลายทิศทาง ทั้งจากนโยบายทางการเมือง จากระบบทางการแพทย์ จากความเชื่อทางศาสนา และจากระบบการศึกษา เหล่านี้หล่อหลอมวิธีคิด วิธีรู้สึก ไปถึงวิธีตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างเราเข้าชั้นเรียนอนุบาล ผ่านชั้นประถม มัธยม และในที่สุดรางวัลแห่งปริญญาบัตรนั้นเองได้กลายเป็นประกาศิตแห่งความไม่รู้

ระบบการศึกษากระแสหลักปลูกฝังนิสัยในการตรวจสอบโลกด้วยเลนส์ที่ชื่อว่า “อวิชชา” ซึ่งทำให้เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมความไม่รู้ขึ้น เราภาคภูมิและชื่นชมความไม่รู้เช่นนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ผู้ชำนาญการเหล่านี้ ล้วนร่ำเรียนและใช้เครื่องมือที่แหลมคมในการตรวจสอบทุกรายละเอียดของความรู้

แต่ตราบใดที่ความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) ยังไม่ถูกทะลุทะลวง ความรู้ที่ได้นั้น ก็จะเป็นเพียงปัญญาแห่งมายาคติเท่านั้นเราถูกทำให้ติดกับอยู่กับความเชื่อด้วยความไม่รู้ทางสังคม ตั้งแต่อนุบริบทในชีวิตส่วนตัว เช่นการเลือกยี่ห้อสบู่ ยาสีฟัน การจัดทรงผมให้เข้าสมัยของแฟชั่น ไปถึงบริบทขยายที่พัฒนาขึ้นผ่านความเชื่อทางศาสนา ระบบการเมือง ระบบคิดทางปรัชญา การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และความพยายามเข้าใจมนุษย์ผ่านวิชาจิตวิทยา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความเชื่อว่า การกินหมูนั้นบาป การกินเนื้อวัวนั้นบาป ไม่มีทารกคนไหนที่เกิดมาพร้อมกับความเชื่อโดยกำเนิดว่า ศาสนานี้ดีกว่าศาสนานั้น หรือหลักปรัชญานี้ถูกต้องและหลักปรัชญานั้นผิด ความเชื่อพวกนี้ล้วนถูกปลูกฝังผ่านกระบวนการการเจริญเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ในแต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย

การสวามิภักดิ์ต่อคุณค่าแห่งความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความคับแคบและข้อจำกัด อันนำเราไปสู่การตัดสินโลกแบบทวิภาวะ และข้อจำกัดเหล่านี้ เบื้องลึกแล้วก็ล้วนเกิดมาจากความไม่รู้โดยกำเนิด (อวิชชา) นั้นเอง

ที่กล่าวมาเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร เป็นแต่เพียงการเสนอให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังถูกพันธนาการด้วยทวิปัญญา มนุษย์ก็ยังต้องก่อสงครามขึ้นมาประหัตประหารกัน เท่า ๆ กับที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีและศิลปะวิทยาการที่มีประโยชน์ต่อตนเองฉะนั้น

ในทิเบต มีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเราอยู่ในร่างของลา จงสำราญในรสแห่งต้นหญ้า” กล่าวอีกนัยหนึ่ง จงชื่นชมและเพลิดเพลินกับชีวิตนี้ เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความหมายและมีคุณค่าในตัวเอง และที่สำคัญ มันเป็นชีวิตที่วิญญาณเราพำนักอยู่หากเราไม่สามารถดูแลที่พำนักแห่งวิญญาณ (อาลัยวิญญาณ)นี้ได้เอง คำสอนของครูบาอาจารย์ ก็สามารถช่วยนำทางเราได้

แต่บางคนอาจจะกล่าวว่า “ความอยาก” ที่จะไปพ้นความไม่รู้ และความพยายามกำจัดการเสพติดในรสต่าง ๆ นั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน หรือบางคนอาจจะพูดว่าชีวิตเราล้วนดำเนินไปตามความไม่รู้แห่งสังสารวัฏ มันเป็นความคลุมเครือพื้นฐานแห่งจิตใจของมนุษย์เท่านั้นเอง ดังนั้นจงร่ายรำไปในมณฑลแห่งความไม่รู้นั้นเถิด เพราะการต้านทานธรรมชาติของความไม่รู้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับความคิดแบบทวิภาวะ

สังเกตดูสิ คำพูดและความคิดเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเห็นว่า แม้แต่คำสอนหรือศีลเองก็ยังถูกตีความไปอย่างวิปริตสับสนดังตัวอย่างที่เห็นกันอยู่เนือง ๆ เมื่อคำว่า”ไร้ศีลธรรม” ได้ถูกตีความด้วยความไม่รู้เชิงทวิภาวะ และความไม่รู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งสร้างความเข้าใจที่ตื้นเขินและสับสนต่อคำว่า “ไร้ศีลธรรม” จนไม่สามารถเข้าใจถึงรากฐานที่แท้จริงแห่งความไร้ศีลธรรมได้ ความไม่รู้และความเข้าใจผิดเช่นนี้ เป็นคำตอบว่า ทำไมการฝึกฝนในวัตรปฏิบัติที่นำเราให้พบประสบการณ์ตรงจากภายในจึงสำคัญยิ่ง เพราะการปฏิบัติและประสบการณ์ภายใน จะช่วยยกระดับการรับรู้ของเราให้ละเอียดขึ้น ช่วยให้แนวโน้มที่เราจะตัดสินโลกแบบทวิภาคค่อย ๆ จางลง

............

คัดเรื่องเกี่ยวกับความฝันในแง่มุมทางทิเบต หรือ สุบินโยคะ
ซึ่งได้แปลไว้อย่างไม่เป็นทางการมาให้อ่าน
ผู้เขียน คือ เท็นซิน วังจัล รินโปเช

ครูแม่ส้ม : สมพร  อมรรัตนเสรีกุล แปล

No comments: