Sunday, March 20, 2005

มายาการกับความฝัน

.....

คนโบราณมักใช้การอุปมาอุปมัย ในการสอนเรื่องนามธรรม (การศึกษาทางเลือกหลายสำนักก็กลับมาให้ความสนใจเรื่องอุปมาอุปมัย โดยจัดอยู่เข้าหมวดญาณทัศน์ด้วย)
วันนี้แปลบท "มายาการกับความฝัน" มาให้อ่านค่ะ

.............

"เงาสะท้อน" ภาพราชสีห์คำรามเกรี้ยวกราดใส่เงาสะท้อนของตัวเองในสระน้ำ เพราะเข้าใจว่าภาพที่เห็นในน้ำนั้นเป็นราชสีห์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังคำรามใส่ตนเช่นกัน

ความฝันเป็นภาพสะท้อนของดวงจิต การปล่อยให้อารมณ์ไหลเลื่อนไปตามแรงกระตุ้นแห่งเหตุปัจจัย จึงอุปมาดังว่าเรากำลังคำรามใส่เงาสะท้อนของดวงจิตตัวเอง

ความฝันไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากดวงจิตของเรา เช่นที่รังสีของดวงอาทิตย์ไม่ได้แปลกแยกออกไปจากแสงแดด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน ท้องฟ้าก็คือจิตของเรา ภูเขาก็เป็นดวงจิตของเรา ดอกไม้ อาหาร ตลอดจนผู้คนที่เราพบเห็น ทั้งหมดล้วนคือดวงจิตของเรา ซึ่งสะท้อนเงากลับมาสู่เราผ่านการฝันนั่นเอง

"แสงฟ้าแลบ" ในค่ำคืนที่มืดสนิท เรามองไม่เห็นสิ่งรอบตัว แต่เมื่อพลันปรากฏแสงฟ้าแลบสว่างขึ้น ทันใดนั้นภาพทิวเขาตั้งตระหง่านตัดกับฉากหลังของท้องฟ้าสีดำก็ปรากฏขึ้นแวบหนึ่ง ขุนเขาไม่ได้เพิ่งจะปรากฏเมื่อเกิดแสงฟ้าแลบ แต่ขุนเขาดำรงอยู่อย่างนั้นก่อนแล้ว แม้ไม่มีสายฟ้าสว่างวาบขึ้นมา ขุนเขาก็ยังคงตระหง่านอยู่ตรงนั้น
..แสงฟ้าแลบที่สว่างวาบขึ้นมาอย่างฉับพลัน อุปมาเหมือนแสงสว่างในดวงจิตของเรา เมื่อสว่างวาบขึ้นคราใด เราก็สามารถเห็นภาพที่ต่างไป แสงฟ้าแลบในดวงจิตของเรา คือแสงแห่งวิชชา และวิชชาเองก็สถิตย์อยู่แล้วในดวงจิตของเราเหมือนภูเขาที่ตั้งตระหง่านเงียบในความมืด


"สายรุ้ง" ความฝันเปรียบเหมือนสายรุ้ง ทั้งสวยงามและเต็มไปด้วยเสน่ห์จูงใจ แต่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถจับต้องได้ สายรุ้งเป็นเพียงภาพฉายของแสงซึ่งมารวมกันในองศาที่เหมาะเจาะ ดังนั้นการพยายามติดตามเพื่อเอื้อมคว้าสายรุ้งมายึดครอง จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ ณ ตำแหน่งที่เราเห็นรุ้งกินน้ำปรากฏขึ้น แท้จริงไม่ได้มีอะไรดำรงอยู่ตรงนั้นเลย สายรุ้งจึงเป็นเพียงการมาประชุมกันของเหตุปัจจัยอันเอื้อให้เกิดภาพลวงตาขึ้นเท่านั้น


"ดวงจันทรา"ความฝันอุปมาได้กับดวงจันทร์ ซึ่งสะท้อนเงาให้เห็นในแหล่งน้ำที่หลากหลาย ในสระบัว ในบ่อบึง ในลำธาร หรือในทะเลกว้าง ทั้งก็ยังส่องสะท้อนอยู่บนหน้าต่างกระจกนับล้านบานในเมืองใหญ่อีกด้วย ทั้งที่ดวงจันทร์มีเพียงหนึ่งเดียว หาได้มีจำนวนมากมายมหาศาลเท่าจำนวนเงาสะท้อนไม่
..อุปมาได้กับเรื่องราวมากมายมหาศาลที่ปรากฏภาพแล้วภาพเล่าในความฝัน แท้จริงทั้งหมดของความมหาศาลนั้นมีแหล่งกำเนิดเพียงหนึ่งเดียวในดวงจิตของเรา


"มายากล" นักมายากลสามารถเสกก้อนหินก้อนหนึ่งให้กลายเป็นช้าง กลายเป็นงู แล้วกลายไปเป็นเสือได้ในบัดดล กลเม็ดความชำนาญของนักมายากล และความน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามได้ไม่ยาก
..ในความฝัน ตัวเราเปรียบเหมือนผู้ชมมายากล ภาพความฝันที่เราตื่นตาตื่นใจและคล้อยตาม เปรียบก็เหมือนช้าง งู และเสือของนักมายากล ซึ่งล้วนเป็นฉากลวงตาที่ถูกสร้างโดยกลเม็ดมายาของดวงจิตเรานั่นเอง


"เงาลวง" ในดินแดนอันร้อนระอุกลางทะเลทราย เมื่อองศาของเหตุปัจจัยพอเหมาะ นักเดินทางจะเห็นภาพบ้านเมืองระยิบระยับอยู่เบื้องหน้า หรืออาจเห็นแหล่งน้ำโอเอซิสเขียวชอุ่มอยู่แค่เอื้อม ภาพที่เห็นทำให้นักเดินทางอาจเดินหลงทิศ หรือทุรนทุรายไขว่คว้าไปจนสิ้นแรง
..ความฝันก็ไม่ต่างกัน ภาพที่เราเห็นในความฝันอุปมาได้กับเงาลวงตากลางทะเลทราย เมื่อใดที่เราเข้าใจว่าภาพที่เห็นเป็นความจริง และทุรนทุรายไปกับสิ่งนั้น เราก็อาจจะเดินหลงทิศและวนเวียนอยู่ในทะเลทรายจนหมดแรง โดยหารู้ไม่ว่าเงาลวงตานั้น แท้จริงเป็นเพียงการเล่นของแสงอันว่างเปล่า


"เสียงก้องสะท้อน" เมื่อยืนอยู่กลางหุบเขา เสียงตระโกนหนึ่งเสียง จะย้อนกลับมาเป็นเสียงก้องอีกหลายเสียง ถ้าตระโกนดังเสียงก้องสะท้อนก็ดังตาม ตระโกนเบา ๆ เสียงก้องสะท้อนก็เบา หรือถ้าเปล่งเสียงกระซิกร่ำไห้ เสียงก้องที่สะท้อนกลับมาก็คือเสียงกระซิกร่ำไห้อย่างนั้น
..เสียงก้องทุกเสียงที่สะท้อนไปสะท้อนมากลางหุบเขา ประหนึ่งว่ามีผู้คนเปล่งเสียงไม่ขาดสายนั้น ที่จริงมีจุดกำเนิดเสียงเพียงจุดเดียว เสียงที่ก้องสะท้อนรอบที่ตามมาอีกหลายรอบจึงเป็นมายา เสียงในความฝันก็เช่นเดียวกัน ทุกสรรพสำเนียงและเรื่องราวในความฝัน อุปมาเหมือนกับเสียงก้องกลางหุบเขาที่สะท้อนไปมาหลายตลบ ความฝันจึงคือเสียงก้องสะท้อนที่เปล่งออกไปจากจิตหนึ่งเดียวของเรานั่นเอง


.....
ตัวอย่างเหล่านี้ ย้ำให้เราตระหนักถึงธรรมชาติดั้งเดิมว่าไม่มีอะไรดำรงอยู่จริง พระสูตรในวัชรยานเรียกภาวะนี้ว่า "ความว่าง" ทางตันตระเรียกว่า "มายาการ" ส่วนคำสอนซอกเช็น เรียกภาวะนี้ว่า "เอกมณฑล"

สุบินโยคะ ไม่เน้นเรื่องการตีความสัญลักษณ์ในฝัน หรือหากจะตีความ ก็สอนให้หาความหมายที่ช่วยให้ก้าวหน้าในทางจิตวิญญาณ ให้ไปเหนือการแปลฝันหรือยึดติดกับความฝันใด ๆ


.....

๒๗ มีนาคม ๒๕๔๗
ครูแม่ส้ม : ย่อยแปล

No comments: