Tuesday, April 19, 2011

การเผยออกของตัวตนผ่านภาพสัญลักษณ์


(ภาพนี้เป็นภาพวาดของคาร์ล ยุง ชื่อ "The Serpent and the Tree")

การ ตีความภาพ (ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ตาเห็น ภาพในจินตนาการ หรือภาพในฝัน) การรับรู้ visual elements หรือ ทัศนธาตุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับการอ่านและตีความ จะถูกรับรู้ผ่านจิตไร้สำนึก 2 ส่วนควบคู่กันไป

- ส่วนที่มาจาก personal unconscious (จิตไร้สำนึกระดับบุคคล) เป็นการรับรู้ต่อสัญลักษณ์ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งจะตีความผ่านการรับรู้และความรู้สึกของคนอื่นได้ยาก เช่น ความรู้สึกต่อสีแดง สำหรับเรา(ปัจเจก)สามารถหมายถึงอารมณ์ได้ทุกสภาวะ เช่น เป็นความรู้สึกกลัวก็ได้ เศร้าก็ได้ ฮึกเหิมก็ได้ ดีใจก็ได้ แรงปรารถนาหรือความเกลียดชังก็ได้ (ตีความได้ไม่สิ้นสุด เพราะการรับรู้ในส่วนนี้เป็นด้าน personal archetype ซึ่งมีนับไม่ถ้วน)


- อีกส่วนหนึ่งมาจาก collective unconscious หรือ จิตไร้สำนึกสากลร่วมกันของมนุษยชาติ ในส่วนนี้เองที่ทัศนธาตุ(visual elements)ของภาพที่เข้ามาในสำนึกของเรา ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรง ทิศทาง จังหวะ ที่ว่าง พื้นผิว แสง และความเข้มข้น ฯลฯ จะสามารถอนุมานได้ว่าคนเราทุกๆคนมีชุดการรับรู้ความรู้สึกร่วมกัน ไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน ก็มีสำนึกต่อสิ่งนี้ใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงแสดงปรารถนา สีฟ้าแทนความคิด สีเขียวแทนผัสสะ และสีเหลืองเป็นสีแห่งญาณทัศนะ หรือเส้นนอนผ่อนคลาย เส้นตั้งมั่นคง เส้นเอียงเคลื่อนไหว เป็นต้น (ด้านนี้เป็น collective archetype)


ดังนั้นในการอ่านภาพ เราจึงใช้จิตไร้สำนึกทั้ง 2 ส่วนนี้ผสมกันตลอดเวลา นี่เองที่ทำให้ศาสตร์การทำนายฝัน และการพยากรณ์ด้วยภาพ ถูกใช้เป็นช่องทางเข้าไปอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นอวัจนะภาษาของจิตด้านที่เป็นจิตบอด หรือ blind area ซึ่งจิตสำนึกตามปกติประจำวันเข้าไปไม่ถึง หรืออ่านไม่ออก

 ....

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล) 
เรียบเรียงจากแนวคิดของยุงในเรื่อง ความฝัน และการเผยออกของตัวตนผ่านสัญลักษณ์

No comments: