Sunday, April 24, 2011

ความฝันไม่เคยหลับ เพียงแค่จิตสำนึกไม่เปิดโอกาสให้เราได้ยิน


ภาพพิมพ์เอทชิ่งของ Francesco Goya ศิลปินชาวสเปน
ชื่อภาพ "The dream of reason produces monsters" ค.ศ. 1799


คาร์ล ยุง มองความฝันต่างไปจากซิกมุนด์ ฟอรยด์ ตรงที่คาร์ลยุงไม่ได้มองว่าความฝันเป็นเรื่องของจิตปัจเจก (individual psyche) เท่านั้น แต่ความฝันมีสายใยที่มองไม่เห็นร้อยรัดพัลวันกันทั้งอนาคตกาล อดีตกาล และ ปัจจุบันกาลอย่างไม่เป็นเส้นตรงของจิตร่วมหรือจิตจักรวาล (collective psyche)


ที่ว่าไม่เป็นเส้นตรงคือคำว่า"กาล"และ"เทศะ"เป็นมิติอิสระ การรับรู้ระดับจิตสำนึก(conscious)ของเราจะรับรู้ได้ในเชิงเส้นตรงเท่านั้น แต่จิตไร้สำนึก(unconscious)รับรู้ความเป็นอิสระของ time และ space ได้อย่างที่มันเป็น


คาร์ล ยุง บรรยายในสัมนาเรื่องความฝันของวัยเยาว์ว่า "ความฝันเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าหากว่านักฟิสิกส์มองว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล คืออธิบายด้วยกฏแห่งเหตุและปัจจัยได้ ความฝันก็เช่นกัน ความฝันเป็นเหตุและปัจจัยของจิต เพียงแต่ว่าขอบแดนของจิตไร้สำนึกนั้นกว่้างใหญ่ไพศาลมาก จึงค่อนข้างจะพ้นวิสัยในการหาข้อสรุปให้ความคิดระดับจิตสำนึก(เชิงเหตุผล)เข้าใจ"


อย่างไรก็ตามจิตไร้สำนึกเป็นจิตซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และมันไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว แต่สาเหตุที่เราอ่านจิตไร้สำนึกไม่ออก ก็เพราะว่าในช่วงเวลาที่เราตื่นอยู่วันทั้งวัน จิตสำนึก(conscious)ของเรามันทำเสียงดังอึกทึกครึกโครมตลอดเวลา จนเราไม่สามารถได้ยินเสียงของจิตไร้สำนึก จนกว่าความง่วงจะคืบคลานเข้ามาในยามค่ำคืน จิตสำนึกจึงค่อยๆเงีบบเสียงลง เมื่อนั้นเสียงของจิตไร้สำนึกก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นมาในความฝัน


ครูแม่ส้ม
4. 24. 2011

ไพ่ทาโรต์ประจำคืนนี้ คือ The Temperance : ตัวเรานั้นเองคือเทพผู้ยืนอยู่ระหว่างพื้นดินและสายน้ำ เรายืนอยู่ระหว่างของแข็งและของเหลว เรายืนอยู่ระหว่างความร้อนและความเย็น เรายืนอยู่ระหว่างวัตถุธาตุและอากาศธาตุ ค่ำคืนนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้ตื่นขึ้นในความฝัน เพื่อสัมผัสถึงประสบการณ์ของจิตที่ไม่แบ่งแยก ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจความบรรสานสอดคล้องแห่งเอกภาวะ


.....

Saturday, April 23, 2011

ช่วงวัยกับความฝัน


(photo of Dream Art by Alastair Magnaldo)


บ่ายนี้ให้ต้องมาอ่านบท On the method of dream interpretation ในหนังสือเล่มหนาปึกชื่อ Children's Dream ที่รวบรวมเอาการบรรยายของศาสตราจารย์คาร์ล ยุง ในช่วงปี 1936-1940 ไว้ อันที่จริงไม่ได้ตั้งใจจะอ่านเลย งานแปลและงานสอนก็มีหนังสือที่ต้องอ่านจนอ่านไม่ทันแล้ว แต่เมื่อเริ่มอ่านเล่มนี้ก็วางไม่ลง เลยต้องเลยตามเลย

ปู่ยุง(ใครอยากจะออกเสียงเรียกว่าจุงก็ไม่ว่ากัน)บอกว่าการศึกษาเรื่องความฝันของบุคคลนั้น ต้องย้อนไปทำงานกับความฝันในวัยเด็กด้วย มันอาจจะฟังดูยากที่จะให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆย้อนกลับไประลึกถึงความฝันครั้งแรกในชีวิต ใครจะไปจำได้ ! ยุงพูดว่า "ฉันได้ถามเพื่อน ถามนักเรียน และคนไข้ของฉันว่า ความฝันที่พวกเขาจดจำได้ว่าเป็นฝันแรกนั้นเป็นฝันตอนอายุเท่าไหร่ หลายคนตอบว่าพวกเขาจำความฝันตอน 4 ขวบได้ บางคนตอบว่า 3 ขวบด้วยซ้ำ"

ความฝันในวัยเยาว์นั้นมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะความฝันช่วงปฐมวัย เพราะความฝันในช่วงวัยนี้จะบ่งบอกบุคลิกภาพและตัวตนที่อยู่ในส่วนลึก และยังบอกถึงแนวโน้มชีวิตในวันข้างหน้าได้ด้วย แต่เมื่อพ้นช่วงปฐมวัย (7 ขวบแรก) เด็กจะเข้าสู่ช่วงไปโรงเรียน ความฝันในช่วงนี้ไม่ค่อยมีนัยยะเชิงลึกอะไร จนกระทั้งเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (ประมาณอายุ 13-20) ความฝันจะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง และหลังจากนั้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความฝันก็ลดบทบาทลงอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งเราอายุ 35 ขึ้นไป ความฝันก็จะกลับมามีความหมายสำคัญกับชีวิตอีกรอบ

........

อ่านสนุกทุกหน้า ไว้จะค่อยๆมาย่อให้ฟัง

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล)

23 . 5 . 54 : The Sun ของเดือนหน้า (ยิ้มให้กับวันพรุ่ง เดือนพรุ่ง ที่อยู่ในลมหายใจของวันนี้เดี๋ยวนี้)

Tuesday, April 19, 2011

การเผยออกของตัวตนผ่านภาพสัญลักษณ์


(ภาพนี้เป็นภาพวาดของคาร์ล ยุง ชื่อ "The Serpent and the Tree")

การ ตีความภาพ (ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ตาเห็น ภาพในจินตนาการ หรือภาพในฝัน) การรับรู้ visual elements หรือ ทัศนธาตุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับการอ่านและตีความ จะถูกรับรู้ผ่านจิตไร้สำนึก 2 ส่วนควบคู่กันไป

- ส่วนที่มาจาก personal unconscious (จิตไร้สำนึกระดับบุคคล) เป็นการรับรู้ต่อสัญลักษณ์ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งจะตีความผ่านการรับรู้และความรู้สึกของคนอื่นได้ยาก เช่น ความรู้สึกต่อสีแดง สำหรับเรา(ปัจเจก)สามารถหมายถึงอารมณ์ได้ทุกสภาวะ เช่น เป็นความรู้สึกกลัวก็ได้ เศร้าก็ได้ ฮึกเหิมก็ได้ ดีใจก็ได้ แรงปรารถนาหรือความเกลียดชังก็ได้ (ตีความได้ไม่สิ้นสุด เพราะการรับรู้ในส่วนนี้เป็นด้าน personal archetype ซึ่งมีนับไม่ถ้วน)


- อีกส่วนหนึ่งมาจาก collective unconscious หรือ จิตไร้สำนึกสากลร่วมกันของมนุษยชาติ ในส่วนนี้เองที่ทัศนธาตุ(visual elements)ของภาพที่เข้ามาในสำนึกของเรา ไม่ว่าจะเป็นสี รูปทรง ทิศทาง จังหวะ ที่ว่าง พื้นผิว แสง และความเข้มข้น ฯลฯ จะสามารถอนุมานได้ว่าคนเราทุกๆคนมีชุดการรับรู้ความรู้สึกร่วมกัน ไม่ว่าคนชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน ก็มีสำนึกต่อสิ่งนี้ใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงแสดงปรารถนา สีฟ้าแทนความคิด สีเขียวแทนผัสสะ และสีเหลืองเป็นสีแห่งญาณทัศนะ หรือเส้นนอนผ่อนคลาย เส้นตั้งมั่นคง เส้นเอียงเคลื่อนไหว เป็นต้น (ด้านนี้เป็น collective archetype)


ดังนั้นในการอ่านภาพ เราจึงใช้จิตไร้สำนึกทั้ง 2 ส่วนนี้ผสมกันตลอดเวลา นี่เองที่ทำให้ศาสตร์การทำนายฝัน และการพยากรณ์ด้วยภาพ ถูกใช้เป็นช่องทางเข้าไปอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นอวัจนะภาษาของจิตด้านที่เป็นจิตบอด หรือ blind area ซึ่งจิตสำนึกตามปกติประจำวันเข้าไปไม่ถึง หรืออ่านไม่ออก

 ....

ครูแม่ส้ม  (สมพร อมรรัตนเสรีกุล) 
เรียบเรียงจากแนวคิดของยุงในเรื่อง ความฝัน และการเผยออกของตัวตนผ่านสัญลักษณ์

Monday, April 18, 2011

กรีดร้อง





ภาพนี้ชื่อว่า "กรีดร้อง" The Scream (1893) โดยศิลปิน Edvard Munch


ความเป็น Symbolism ในงานศิลปะ แสดงออกแบบเดียวกับภาพที่เกิดขึ้นในความฝัน ศิลปินไม่ได้สนใจเรื่องธาตุทางศิลปะหรือสุนทรียทักษะมากนัก แต่ปล่อยให้จิตใต้สำนึกเผยสัญลักษณ์ออกมาอย่างอิสระ ความงามของภาพแนวนี้ไม่ได้ตัดสินกันที่ทักษะทางฝีแปรง แต่คุณค่าอยู่ที่การเปิดเผยอย่างหมดเปลือกของตัวศิลปิน เป็นการเปลือยออกของจิตใต้สำนึกโดยที่เจ้าตัวพร้อมเสี่ยงที่จะถูกอ่าน ถูกเห็น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตำหนิ หรือถูกชื่นชม

ลัทธิทางศิลปะต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ภาพวาด ดนตรี บทกวี วรรณกรรม ล้วนเคลื่อนไปพร้อมๆกับการพลิกหน้าดินของสังคม โลกหมุนไปเป็นพลวัต สังคม การเมือง ศิลปะ มีการพลิกมีการกลับหน้าดินครั้งแล้วครั้งเล่า .. เหตุเกิดที่ถนนสีลมในวันสงกรานต์ ก็เป็นปรากฏการณ์พรวนดิน .. เป็นฝันที่เราต้องเปิดตาเปิดใจน้อมรับเขาเข้ามา เพราะเขาคือส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน

Wednesday, April 13, 2011

ในโลกฝัน ไม่ตัดสินขาว ไม่พิพากษาดำ



จิตสำนึกถูกสอนมายาวนาน นานก่อนเราเกิดแล้ว ว่าในโลกใบนี้ มีด้านสว่างและด้านมืดอยู่คู่กัน มีความดีตรงข้ามกับความชั่ว การจะอยู่รอดต้องตัดสินใจเลือกฝ่ายหนึ่งไว้ และสลัดละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไป

แต่เพราะสิ่งคู่ก็คือสิ่งคู่ เราเลือกมองหน้าเดียวของเหรียญได้ เลือกเชื่อว่าเหรียญมีเพียงด้านเดียวได้ แต่ใช่ว่าความเชื่อของเราจะทำให้เหรียญอีกหน้าหนึ่งหายไปจริงๆ

อีกด้านของเหรียญที่เราเลือกที่จะไม่มอง กลัวที่พลิกมันขึ้นมา หรือกระทั่งลืมไปแล้วว่าธรรมชาติของเหรียญคือมีสองด้าน ก็จะมาผลุบโผล่ให้เคืองใจในความฝัน โผล่มาเป็นถ้อยคำเป็นสุ้มเสียงที่เราต้องอุดหู โผล่มาเป็นภาพเป็นฉากที่เราต้องวิ่งหนีและซุกซ่อน

ฝันเหนื่อย ฝันร้าย ฝันใจหาย ... คือสัญญะที่มาสะกิดว่า ช่วยพลิกเหรียญอีกด้านขึ้นมาพิจารณาอย่างกล้าหาญเถิด

.........

(เรื่องและภาพประกอบถ่ายโดย ครูแม่ส้ม)